สกสว.หนุนวิศวกรจิตอาสาร่วมฟื้นฟูเชียงราย มุ่ง‘เมืองสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ’รับมือทุกภัยพิบัติ

สกสว.หนุนวิศวกรจิตอาสาร่วมฟื้นฟูเชียงราย มุ่ง‘เมืองสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ’รับมือทุกภัยพิบัติ

   เมื่อ : 9 ต.ค. 2567

สกสว.หนุนทีมวิศวกรจิตอาสาเดินเท้าช่วยสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยตามคำร้องขอของรักษาการผู้ว่าฯเชียงราย ชี้ภาพรวมยังสาหัสโดยเฉพาะแม่สายต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 3 เดือน จับมือนายก อบจ. เร่งฟื้นฟูและทำโมเดล “เชียงรายเมืองสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ” รับมือภัยพิบัติทุกรูปแบบ พร้อมส่งข้อมูลให้กมธ.ภัยธรรมชาติฯ และ สกสว. เพื่อขอรับการสนับสนุนระบบเตือนภัย ข้อมูลสำหรับการคาดการณ์และการจัดการภัยพิบัติ

ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยศูนย์เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย นำวิศวกรจากสมาคมและมูลนิธินายช่างไทยใจอาสาลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบความเสียหายและแนะนำการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในบริเวณอำเภอเมืองและอำเภอแม่สาย โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า ระบบโครงสร้าง ทั้งบ้านเรือนและถนนหนทางซึ่งเป็นเส้นเลือดที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อการสัญจรและขนส่งสินค้าการเกษตรรวมถึงการซ่อมแซมและสร้างบ้านให้ประชาชน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยจะจัดทีมขึ้นมาทุกสัปดาห์เพื่อแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และผู้อำนวยการจังหวัด ได้ออกหนังสือด่วนที่สุดถึงสมาคมฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนบุคลากรในการสำรวจบ้านเรือนราษฎรที่เสียหายจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ รวมถึงคำนวณออกแบบรายละเอียด จัดทำรูปแบบ และประมาณราคา

ขณะที่นายชูเลิศ จิตเจือจุน อุปนายกสมาคมฯ และ อ.วัฒนพงศ์หิรัญมาลย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และเลขาธิการสมาคมฯ ได้สรุปรายงานการสำรวจพื้นที่ที่เสียหายในอำเภอแม่สาย ว่าภาพรวมยังสาหัสต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูอย่างต่ำ 3 เดือน เนื่องจากบ้านริมน้ำมีดินโคลนจำนวนมาก และข้อจำกัดของพื้นที่จึงต้องเดินเท้านำเครื่องจักรขนาดเล็กเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งในระยะยาวจะต้องบริหารจัดการน้ำด้วยความละเอียดอ่อน เนื่องจากเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางชายแดน จึงต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานด้านความมั่นคงด้วย

ด้านนางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย กล่าวว่า จะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับทีมวิศวกรจิตอาสาและช่วยประสานท้องถิ่นทั้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศบาลตำบลแม่สายและเทศบาลตำบลแม่สายมิตรภาพเพื่อเข้าสำรวจพื้นที่อย่างทั่วถึง ทั้งนี้จุดสำรวจเร่งด่วน ประกอบด้วย พื้นที่ปลอดภัยสำหรับการก่อสร้างหมู่บ้านใหม่ทดแทนบ้านเดิมที่ได้เสียหายอย่างหนักบริเวณบ้านอยู่สุข อ.เวียงแก่นจำนวน 13 หลัง โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจากเอกชนทั้งพื้นที่และทุนก่อสร้างรวมถึงบ้านห้วยทรายขาว อ.เวียงป่าเป้า ซึ่งดินถล่มจากภูเขาทำให้บ้านกว่า 10 หลังพังทลาย และจุดก่อสร้างโรงเรียนที่บ้านห้วยหินลาดอ.เวียงป่าเป้า ว่าจะสร้างในพื้นที่เดิมหรือต้องย้ายออกมาในจุดใหม่ ซึ่งนายชูเลิศเสนอให้เสริมเหล็กพิเศษเพื่อรับแรงลมและแรงแผ่นดินไหวด้วยนอกจากนี้ยังต้องเร่งซ่อมแซมถนนบริเวณบ้านเมืองงิมที่ชำรุดเสียหาย เนื่องจากเป็นช่วงโค้งน้ำที่มีน้ำไหลแรง แรงดันของน้ำทำให้พนังกั้นน้ำแม่กกแตกจนน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือน กัดเซาะถนนบริเวณไหล่ทางจนทรุดตัว ซึ่งทีมวิศวกรเสนอให้ทำพนังคอนกรีตเพื่อให้แนวเขื่อนแข็งแรง ยกคันดินให้สูงขึ้น และปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับน้ำ

สำหรับแผนการระยะสั้นของ อบจ.เชียงราย คือ เร่งฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติอย่างน้อยร้อยละ 80 เพื่อสร้างรายได้ทั้งการเกษตรและการท่องเที่ยวที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงสิ้นปี ซึ่งอบจ.จะจัดงานมหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงรายริมน้ำกกและอำเภอแม่สายบริเวณถ้ำพญานาค ต.โป่งงาม เพื่อดึงกิจกรรมการค้าขายและชาติพันธุ์ต่าง ๆ มารวมไว้ที่แม่สายและเชิญชวนคนมาท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชาวเชียงราย ส่วนการรับมือภัยพิบัติระยะยาวคือ การปรับปรุงระบบเตือนภัยและนำบทเรียนจากมหาอุทกภัยและดินโคลนถล่มในครั้งนี้มาพูดคุยกันทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันวางระบบป้องกันโดยไม่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากนัก โดยจะต้องให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนด้วยเพื่อให้เกิดการรับรู้และเข้าใจไปด้วยกัน ไม่ให้คนลืม ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการ เช่น ความอ่อนไหวของพื้นที่ สาเหตุของปัญหาภัยพิบัติแต่ละประเภท และแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อสนับสนุนการทำงานของ อบจ. ร่วมกับทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ ผู้แทน สกสว. และ ผศ. ดร.รัฐพล เกติยศ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ร่วมกันเสนอการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงและระบบเตือนภัยที่ครอบคลุมภัยพิบัติทุกด้าน ได้แก่ แผ่นดินไหว ดินถล่ม น้ำท่วม และฝุ่นควัน PM2.5 เนื่องจากเชียงรายเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง โดยในส่วนของการจัดการด้านน้ำจะต้องมีระบบโครงสร้าง แก้มลิง ระบบระบายน้ำ ซึ่งนายก อบจ.เขียงรายเห็นด้วยที่จะทำเป็นแพคเกจ ”โมเดลเชียงราย เมืองสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ” ซึ่งเป็นการจัดการเมืองที่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ/ของเสีย การดูแลสภาพอากาศ และการเฝ้าระวังภัยพิบัติ ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายใต้แนวคิด”การพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน” 

“เราจะรวบรวมข้อมูลความเสียหายและแนวทางซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่ถูกน้ำกัดเซาะให้แก่ อบจ. เพื่อประกอบการกรอกแบบแสดงรายการปริมาณงานและราคาสำหรับค่าใช้จ่ายพิเศษตามข้อกำหนด (แบบ ปร.4) สำหรับซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายตามมติ ครม. รวมถึงคณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอรับการสนับสนุนระบบเตือนภัย ข้อมูลสำหรับการคาดการณ์และการจัดการภัยพิบัติ ตลอดจน สกสว. เพื่อสนับสนุนทุนวิจัยและการใช้ประโยชน์ด้านการจัดการภัยพิบัติให้ครบทุกมิติและบูรณาการอย่างรอบด้าน ซึ่งเราจะพยายามประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย” ศ. ดร.อมร นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ