“ศุภมาส” ประชุมระดับรัฐมนตรี IAEA World Fusion Energy Group มุ่งขับเคลื่อนนิวเคลียร์ฟิวชัน สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เศรษฐกิจที่แข็งแรง และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน พร้อมผลักดันไทยสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง
“ศุภมาส” ประชุมระดับรัฐมนตรี IAEA World Fusion Energy Group มุ่งขับเคลื่อนนิวเคลียร์ฟิวชัน สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เศรษฐกิจที่แข็งแรง และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน พร้อมผลักดันไทยสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง
เมื่อวันที่ 6 พ.ย.67 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี Inaugural Ministerial Meeting of the IAEA World Fusion Energy Group ของกลุ่ม World Fusion Energy Group (WFEG) เครือข่ายด้านพลังงานฟิวชันระดับนานาชาติครั้งแรก เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน แสดงออกถึงบทบาทในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านนิวเคลียร์ฟิวชันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานที่ไร้ขีดจำกัด จัดโดยองค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) โดยมีผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกของ IAEA องค์การระหว่างประเทศและภาคเอกชน เข้าร่วม ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี
น.ส.ศุภมาส ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีพลังงานฟิวชั่น โดยเน้นความสำคัญของการบูรณาการพลังงานสะอาด ความมั่นคงทางพลังงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ซึ่งที่ผ่านมาในปี 2558 กระทรวง อว. ได้ก่อตั้ง “โรงเรียนฟิสิกส์และฟิวชันนิวเคลียร์อาเซียน” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านฟิวชัน และสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ในอาเซียนหันมาสนใจแหล่งพลังงานใหม่ที่สะอาด ไร้ขีดจำกัด ปราศจากคาร์บอน ปราศจากกากนิวเคลียร์ที่เกิดจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในปัจจุบัน เพื่อรองรับกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน
รมว.อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการพัฒนางานวิจัยพลังงานฟิวชั่นอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มโครงการ ”โทคาแมค-1” (Thailand Tokamak-1ตั้งแต่ปี 2560 และเริ่มติดตั้งเครื่องโทคาแมคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งถือเป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันเครื่องแรกของไทย และเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิจัยด้านพลาสมาและฟิวชัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการพลิกโฉมพลังงานแห่งอนาคตและสามารถนําไปประยุกต์ใช้ในด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และด้านการแพทย์ ได้อีกด้วย
“เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีฟิวชันให้เกิดผลจริง และมุ่งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันและกำลังคนระดับสูงด้านเทคโนโลยีฟิวชันของอาเซียน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างอนาคตที่สะอาดและยั่งยืนสำหรับทุกคน ต่อไป” น.ส.ศุภมาส กล่าว