สกสว. – องค์การสวนสัตว์ฯ ร่วมหารือการจัดสรรงบ ววน. พร้อมการนำกระบวนการวิจัย - วิทย์ ลดวิกฤติการสูญพันธุ์ เพิ่มประชากรสัตว์ คืนสู่ป่าธรรมชาติ

สกสว. – องค์การสวนสัตว์ฯ ร่วมหารือการจัดสรรงบ ววน. พร้อมการนำกระบวนการวิจัย - วิทย์ ลดวิกฤติการสูญพันธุ์ เพิ่มประชากรสัตว์ คืนสู่ป่าธรรมชาติ

   เมื่อ : 14 พ.ค. 2567

กรุงเทพฯ 14 พฤษภาคม 2567 - สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ (O – Inclusiveness)ร่วมแลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจทิศทางการบริหารจัดการงานวิจัยขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นหน่วยรับทุนสนับสนุนมูลฐาน (Fundamental Fund; FF) จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ภายใต้แผนงานวิจัยสำคัญ 2 ประเด็น คือ แผนงานที่ 1 ชะลอวิกฤติการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า และแผนงานที่ 2 สนับสนุนการดำรงพันธุ์สัตว์ป่า และการนำคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อให้ตอบโจทย์พันธกิจของหน่วยงานในการขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ และมุ่งสร้างส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านสวนสัตว์ พร้อมเยี่ยมชมผลการดำเนินงานวิจัยขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุน ววน. ตามภารกิจหลักในด้านของการหยุดยั้งการสูญพันธุ์ การเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ให้เพียงพอและปรับปรุงคุณภาพทางพันธุกรรม เพื่อนำกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติ

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ (O-Inclusiveness) กล่าวว่า การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ในด้านการสร้างการรับรู้ให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมสวนสัตว์เปิดเขาเขียว รวมถึงช่วยวางกลไกแผนงานวิจัยต่อเนื่อง (multi-years) ในระยะ 2-3 ปี ด้วยงานวิจัยมูลฐาน นอกจากจะทำให้ผู้วิจัยสามารถวางแผนการวิจัยด้านการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังช่วยให้หน่วยงานสามารถนำผลงานวิจัยเดิมมาขยายผล เพื่อขอรับการสนับสนุนทุนด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (RU: Research Utilization) ยังสามารถขอรับทุนโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science & Technology development fund; ST) สำหรับการยกระดับคุณภาพและการให้บริการด้านห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย ซึ่งองค์การสวนสัตว์ฯ มีบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับการวิจัยในด้านต่าง ๆ มากมาย อาทิ ด้านพันธุศาสตร์ ด้านเชื้อโรคในสัตว์ ด้านเทคโนโลยีการสืบพันธุ์สำหรับขยายพันธุ์สัตว์ป่า

ด้าน นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ภารกิจการวิจัยขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ เป็นหนึ่งในภารกิจหลักควบคู่ไปกับการดำเนินงานบริหารจัดการพื้นที่สวนสัตว์ให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจบริการแก่ประชาชน ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาและการบริหารจัดการสวนสัตว์สมัยใหม่ การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ เช่น การอนุรักษ์พันธุ์พญาแร้ง และความสำเร็จในการวิจัยประชากรนกกระเรียนไทย ซึ่งเดิมทีมีสถานะสูญพันธุ์ไปแล้วในธรรมชาติให้สามารถเพิ่มประชากรโดยธรรมชาติ และนำมาสู่การยกระดับสถานะประชากรนกกระเรียนไทยเป็นสถานะแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์/เสี่ยงสูญพันธุ์ และมีแผนนำส่งนกกระเรียนไทยให้แก่ประเทศเวียดนามที่ได้สูญพันธุ์นกกระเรียนไปแล้ว นับเป็นการนำผลงานวิจัยไปใช้เป็นกลไกสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงใช้พัฒนาความสามารถและความรู้ให้กับบุคลากร ตลอดจนการสื่อความหมายให้แก่ผู้เข้าชมสวนสัตว์ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับทั้งความรู้และประสบการณ์

ขณะที่นายยงชัย อุตระ ผู้อำนวยการสถาบันอนุรักษ์ และวิจัยสัตว์ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ อธิบายภาพรวมการบริหารงานวิจัยขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ว่ามีหน้าที่หลักคือการหยุดยั้งการสูญพันธุ์การเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ให้เพียงพอและปรับปรุงคุณภาพทางพันธุกรรม เพื่อนำกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติ ผ่านการดำเนินงานและผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนมูลฐาน หรือ งบประมาณสำหรับแผนงานหรือโครงการด้านการวิจัยและนวัตกรรมตามภารกิจของหน่วยงาน จากกองทุน ววน. ในโครงการต่าง ๆ อาทิ 1. โครงการการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเชิงบูรณาการเพื่อการอนุรักษ์เสือปลา (Prionailurus viverrinus) อย่างยั่งยืน โดย สพ.ญ.ดร. อัมพิกา ทองภักดี หัวหน้าโครงการวิจัย 2. โครงการการบูรณาการการจัดการประชากรและการฟื้นฟูพฤติกรรมนกกาฮัง เพื่อเตรียมความพร้อมในการทดลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดย นางสาวอุฬาริกา กองพรหม หัวหน้าโครงการวิจัย และ 3. โครงการการฟื้นฟูพฤติกรรมนกกระสาคอขาวและนำประชากรกลับคืนสู่ธรรมชาติ โดย นายชัยณรงค์ ปั้นคง หัวหน้าโครงการวิจัย

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ทางองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุน ววน. ภายใต้แผนงานวิจัยสำคัญ 2 ประเด็น คือ แผนงานที่ 1 ชะลอวิกฤติการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า เช่น การวิจัยด้านการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเชิงบูรณาการเพื่อการอนุรักษ์เสือปลา ซึ่งเป็นสัตว์อยู่ในสถานะที่มีแนวโน้มใกล้
สูญพันธุ์/เสี่ยงสูญพันธุ์ (VU-Vulnerable) และแผนงานที่ 2 สนับสนุนการดำรงพันธุ์สัตว์ป่า และการนำคืนสู่ธรรมชาติ เช่น การวิจัยด้านประชากรและฟื้นฟูพฤติกรรมนกกาฮัง และนกกระสาคอขาว เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งตอบโจทย์พันธกิจของหน่วยงานในการขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ และมุ่งสร้างส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านสวนสัตว์



 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ