พม. หนุน โครงการขยายผลโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. จับมือ 5 มหาวิทยาลัยเครือข่าย นำร่อง ร่วมพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน

พม. หนุน โครงการขยายผลโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. จับมือ 5 มหาวิทยาลัยเครือข่าย นำร่อง ร่วมพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน

   เมื่อ : 9 พ.ค. 2567

     วันที่ 9 พ.ค.2567  นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวง พม. เป็นประธานในงานแถลงข่าว เปิดตัวโครงการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพ ผ่านโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยโครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันของมหาวิทยาลัย 6 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการพัฒนาหลักสูตรสร้างทักษะเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมอาชีพให้คนพิการมีงานทำ ตั้งเป้ารับสมัครคนพิการเข้ารับการฝึกอบรม-ฝึกงานรุ่นที่ 1 กว่า 300 คน โดยงานแถลงข่าวจัดขึ้น ณ ห้อง Auditorium ชั้น 7 อาคาร Knowledge Exchange (KX) ถนนกรุงธนบุรี กรุงเทพฯ

รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. เปิดเผยว่า โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. เป็นโครงการที่ มจธ. ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยนำกลไกตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มาตรา 35 มาช่วยในการขับเคลื่อน เพื่อฝึกอบรม-ฝึกงาน เตรียมความพร้อมให้คนพิการเข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการและมีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ มีหลักสูตรฝึกอบรม 4หลักสูตร คือ หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน หลักสูตรผู้ทดสอบทางประสาทสัมผัสสำหรับคนพิการทางสายตา หลักสูตรการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิทัล และหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ซึ่งจากการดำเนินงานมากว่า 10 ปี จนถึงปัจจุบัน มีผู้สำเร็จจากการอบรมตามโครงการทั้งสิ้น 10 รุ่น กว่า 398 คนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และร้อยละ 50 ของผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน ได้รับการจ้างงานเข้าทำงานในสถานประกอบการจริง

ทั้งนี้จากข้อมูลสถิติการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการปี 2566พบว่า หน่วยงานภาครัฐมีการจ้างงานคนพิการเพียงร้อยละ 18.73 เท่านั้น ในขณะที่สถานประกอบการภาคเอกชนมีการจ้างงานคนพิการตามที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 98.81 โดยสถานประกอบการสามารถใช้วิธีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 34 แทนการจ้างงานคนพิการได้ เหตุผลส่วนหนึ่งของการเลือกใช้ มาตรา 34 เพราะสถานประกอบการขาดความพร้อมด้านสถานที่ในการรองรับการทำงานและการใช้ชีวิตของคนพิการ และผู้ประกอบการไม่มั่นใจในคุณสมบัติของคนพิการว่าจะสอดคล้องกับความต้องการ และมีทักษะที่เหมาะกับการทำงานในสถานประกอบการหรือไม่ ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพของคนพิการและการเตรียมความพร้อมคนพิการเข้าสู่สถานประกอบการ รวมทั้งการสร้างอาชีพอิสระหรือสร้างรายได้ให้กับคนพิการจึงควรเป็นบทบาทของภาครัฐและหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก โดยใช้ประสบการณ์และความรู้ในหน่วยงาน เช่น สถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีความพร้อมทางด้านต่างๆ ทั้งบุคลากร องค์ความรู้ และสถานที่ ในการผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและเป็นเครือข่ายออกไปตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงและลดภาระการเดินทางให้กับคนพิการ และยังเป็นการตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของประเทศ

รศ. ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า จากกิจกรรมครบรอบ 10 ปีที่จัดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ได้มองเห็นโมเดลการทำงานของ มจธ. และแนะนำให้ มจธ.ชักชวนพันธมิตรที่เป็นมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในภูมิภาค ที่มีศักยภาพมาร่วมกันขยายผล ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ มจธ.จึงเป็นที่มาของมหาวิทยาลัยเครือข่ายนำร่อง 5 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในโครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพ ผ่านโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มาตรา 34 เป็นเงินจำนวนกว่า 23000000 บาท สำหรับจัดอบรมและฝึกงานคนพิการรุ่นที่ 1 รวมทั้งสิ้น 300คน เริ่มตั้งแต่เดือน 1 เมษายน 2567 – 31 มีนาคม 2568 ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี

ด้าน ดร.อรกัญญาณี เลี้ยงอิสสระ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มจธ. และในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า เป้าหมายของการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษา คือ การ Upskill-Reskill และสร้างโอกาสที่เท่าเทียมในการทำงาน และมีรายได้เลี้ยงตนเองได้อย่างยั่งยืนของคนพิการประกอบกับโครงการขยายผลฯ นี้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์และเป้าหมายของกองทุนฯ และ พม. ซึ่งมีความตั้งใจที่จะให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างหรือพนักงานมากกว่า 100 คน จ้างคนพิการเข้าไปทำงานตามมาตรา 33 มากขึ้น และได้คนพิการที่ทำงานได้จริงและมีศักยภาพ ลดช่องว่างของสังคม โดยเฉพาะคนพิการที่ไม่มีงานทำ จากที่สถานประกอบการไม่กล้าจ้างเพราะกลัวว่าคนพิการจะทำงานไม่ได้ ทางปลัดกระทรวง พม. ได้เสนอแนะให้ มจธ.และเครือข่ายเขียนข้อเสนอโครงการไปขอทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ จึงเกิดเป็นโครงการนำร่องนี้ขึ้น

“โดยบทบาทของ มจธ. ในฐานะมหาวิทยาลัยเจ้าภาพหรือแม่ข่าย จะทำหน้าที่ train the trainer และ facilitator (อาจารย์เกื้อหนุน) รวมทั้งช่วยแนะนำวิธีการ กรอบการทำงาน ตลอดจนสร้างความเข้าใจร่วมกัน และแนวทางหรือสิ่งที่จะต้องทำในโครงการฯ ที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 5 แห่ง สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ เกิดการฝึกอบรม-ฝึกอาชีพตามความต้องการในพื้นที่ (demand-driven) ให้คนพิการมีสมรรถนะทำงานได้จริงตามที่สถานประกอบการต้องการ โดยในอนาคตอาจจะใช้มาตรา 35 ในการดำเนินการได้อย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญคือการที่สถาบันอุดมศึกษาทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนพิการ สถานประกอบ และสังคม จนเกิดเป็นระบบนิเวศในการทำงานที่ยั่งยืน เพราะสุดท้ายแล้วกระบวนการไม่ใช่แค่ฝึกอาชีพ แต่ต้องหาสถานประกอบการมารับคนกลุ่มนี้ไปทำงาน หรือการมีรายได้จากอาชีพอิสระ”

สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในโครงการฯ คือ การนำสิ่งที่ มจธ.ได้วางแผนและเคยดำเนินการประสบความสำเร็จมาแล้วตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมามาเป็นแม่แบบ โดยกระบวนการหรือขั้นตอนการทำงาน แบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.หารือร่วมกับสถานประกอบการที่สนับสนุนโครงการ เพื่อหาอาชีพและพัฒนาหลักสูตรการฝึกที่คนพิการสามารถทำได้ มีความต้องการจ้างงาน หรือ เป็นอาชีพใหม่ที่มีดำเนินการฝึกอบรมให้คนพิการไม่มากนัก  2.รับสมัครและคัดเลือกคนพิการเข้าร่วมโครงการ ตามคุณสมบัติของแต่ละหลักสูตร รวมทั้งพิจารณาถึงความต้องการและมีแรงจูงใจที่ต้องการทำงานหรือประกอบอาชีพ 3.กระบวนการฝึกอบรม-ฝึกงานฯ รวม 6 เดือนโดยครอบคลุมทักษะทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านอาชีพ ทักษะด้านการสนับสนุนการทำงานและการใช้ชีวิต และทักษะการฝึกประสบการณ์ทำงานตรง4.สนับสนุนการจ้างงานคนพิการร่วมกับภาคี ทั้งสถานประกอบการและหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนการจ้างงานคนพิการ 5.ระบบพี่เลี้ยงติดตามและให้คำแนะนำ และ6.การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ผลกระทบ และผลตอบแทนจากการลงทุน โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครคนพิการเข้าร่วมโครงการฯ ระหว่างวันที่ 9 – 31 พ.ค. 67 มหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 5 แห่ง จะเริ่มดำเนินการอบรมและฝึกอาชีพให้กับคนพิการระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย. 67 และช่วยส่งเสริมการหางานและติดตามผลโครงการฯ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 เป็นต้นไป

“คาดหวังว่าโครงการขยายผลอุดมศึกษาฯ นำร่องนี้ จะทำให้มีคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรม เข้าสู่สถานประกอบการได้มากขึ้น หรือคนพิการที่ไม่สะดวกในการไปทำงานกับสถานประกอบการ สามารถทำอาชีพอิสระที่บ้านได้ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบสิ่งพิมพ์ดิจิทัล หรืองานฝีมือ และหากรุ่นที่ 1 ผลลัพธ์ออกมาดี เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนขยายผลออกเพิ่มขึ้น ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว และหากทำอย่างต่อเนื่อง จำนวนคนพิการที่มีงานทำ มีอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น โครงการฯ นี้ก็จะช่วยสังคมไทยได้มาก ทั้งเรื่องของคุณภาพชีวิตคนพิการ ลดช่องว่าง และลดภาระของภาครัฐ ขณะเดียวกันคนพิการเองจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง และสามารถดำรงชีพได้อย่างภาคภูมิ ที่สำคัญยังตอบโจทย์ SDGs ของประเทศอีกด้วย ซึ่งทางมจธ.เองก็ทำเรื่องดังกล่าวมายาวนานเช่นกัน” อธิการบดี มจธ. กล่าวปิดท้าย