วช. จับมือ สอศ. ดันสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา พลิกโฉมการศึกษาไทย ด้วยกิจกรรม TVET Smart Idea2Innovation

วช. จับมือ สอศ. ดันสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษา พลิกโฉมการศึกษาไทย ด้วยกิจกรรม TVET Smart Idea2Innovation
วันที่ 2 เมษายน 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดกิจกรรม “TVET Smart Idea2Innovation : สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษาสู่นวัตกรรมพร้อมใช้” ประจำปี 2568 ครั้งที่ 4 ภาคเหนือ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด และปาฐกถาพิเศษเรื่อง “TVET Smart Idea2Innovation : บ่มเพาะ เสริมแกร่ง พัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา สู่นวัตกรรมพร้อมใช้” พร้อมด้วย ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี รองศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 15 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง “ปลดล็อกศักยภาพ สร้างชาติด้วยนวัตกรรม : บทบาทของอาชีวศึกษาในการขับเคลื่อน TVET Smart Idea2Innovation” ณ โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดพิษณุโลก
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึง กิจกรรม “TVET Smart Idea2Innovation : สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษาสู่นวัตกรรมพร้อมใช้” ประจำปี 2568 ในสายอาชีวศึกษาเป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นการบูรณาการการเรียนรู้ผ่านกระบวนการวิจัย นวัตกรรม และเครือข่ายความร่วมมือ โดยมีเป้าหมายหลักคือการเสริมสร้างศักยภาพนักศึกษาอาชีวะให้มีความพร้อมต่อการทำงานและเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งแนวทางดำเนินงานของโครงการ เพื่อการสนับสนุนการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ผ่านโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา อุตสาหกรรมและชุมชน และการให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านธุรกิจแก่ผู้เรียนเพื่อส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ ผลที่คาดหวังคือ นักศึกษาอาชีวะจะได้รับทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานจริง มีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรม และสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการดำเนินโครงการต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนต่อระบบการศึกษาสายอาชีพและเศรษฐกิจของประเทศ และได้กล่าวย้ำถึงบทบาทของอาชีวศึกษาในการขับเคลื่อนประเทศด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พร้อมกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “อาชีวะยุคใหม่ ก้าวไกลด้วยนวัตกรรม สร้างสรรค์เทคโนโลยี พัฒนาเศรษฐกิจ สู่ความยั่งยืน”
ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี รองศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 15 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึง สอศ. มุ่งปฏิรูปอาชีวศึกษาไทยให้ทันสมัยด้วยการผสมผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ากับกระบวนการเรียนรู้ เน้นการประยุกต์ใช้ AI อย่างชาญฉลาดเพื่อเสริมศักยภาพมนุษย์มากกว่าแทนที่ พร้อมทั้งออกแบบระบบการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการตลาดแรงงานแห่งอนาคต ซึ่งกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีและแนวโน้มสังคมใหม่ๆ โดยมีแนวทางปฏิบัติผ่านนโยบายอาชีวศึกษา 8 ประการที่ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบ Anywhere Anytime การส่งเสริมงานวิจัยประยุกต์ที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงการพัฒนาทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการจริง ที่น่าสนใจคือการมองเห็นบทบาทของเทคโนโลยีการศึกษาแห่งอนาคต (EdTech) โดยเฉพาะ AI AR/VR และ Blockchain ที่จะเข้ามาปฏิวัติวิธีการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งมุ่งสร้างระบบอาชีวศึกษาที่ไม่เพียงผลิตแรงงานมีทักษะ แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
ภายในงานจัดกิจกรรม “TVET Smart Idea2Innovation : สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษาสู่นวัตกรรมพร้อมใช้” ประจำปี 2568 มีการบรรยายเรื่อง “ปลดล็อคไอเดีย สู่ข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์สุดเจ๋ง!” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ขนิษฐา ชัยรัตนาวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมีการเสวนาเรื่อง “คิด(ส์) ประดิษฐ์...ติดอะไร? เสวนาไขปัญหา สู่ทางออก” โดย ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี รองศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 15 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รองศาสตราจารย์ ดร.พานิช อินต๊ะ คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดร.พรเทพ ศักดิ์สุจริต รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ดร.ธวัชไชย ลิ้มสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และดำเนินรายการโดย พลเอกวินัฐ อินทรสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและนวัตกรรมในประเทศไทยให้ก้าวสู่ระดับสากลอีกด้วย
ทั้งนี้ ภายในงานกิจกรรม “TVET Smart Idea2Innovation : สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษาสู่นวัตกรรมพร้อมใช้” ประจำปี 2568 ครั้งที่ 4 ภาคเหนือ ได้มีตัวอย่างผลงานที่ได้รับทุน ภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสิ่งประดิษฐ์ ระดับอาชีวศึกษา (Invent Plus) มาจัดแสดง ได้แก่
-ผลงานเครื่องคัดแยกขนาดมะขามอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีการประมวลผลภาพ จากวิทยาลัยการอาชีพชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์
-ผลงาน “กรุ่นกลิ่น” ทองม้วนกล้วยไข่กระยาสารท จากวิทยาลัยสารพัดช่างกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
-ผลงานกาแฟสกัดเย็น มองท์ บริว พรีเมี่ยม จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ จังหวัดเชียงใหม่
-ผลงานชาหมักคอมบูชะจากข้าวเหนียวกล้องสันป่าตองและผลพลอยได้จากข้าวโพด จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
-ผลงานรัมภ์รดา แว็กซ์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษานครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
-ผลงานข้าวเกรียบดอกไม้ (Flower Crispy Rice) จากวิทยาลัยการอาชีพจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
-ผลงานมหัศจรรย์ผ้าปัก จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ จังหวัดเชียงใหม่
เพื่อเป็นแรงบรรดาลใจให้กับนักเรียนอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมอบรม ในการพัฒนาศักยภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น