สอวช. เวิร์คช็อป ร่วมกับ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีสีเขียวสาธารณรัฐเกาหลี ชูพลังงานไฮโดรเจน ทางเลือกสู่เป้าหมาย Net Zero
สอวช. เวิร์คช็อป ร่วมกับ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีสีเขียวสาธารณรัฐเกาหลี ชูพลังงานไฮโดรเจน ทางเลือกสู่เป้าหมาย Net Zero
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “Capacity Building for Hydrogen Policymaker for Thailand” ภายใต้กลไก Technological Assistance ศูนย์เครือข่ายเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Centre and Network: CTCN) กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ร่วมกับ National Institute of Green Technology (NIGT) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีสีเขียวสาธารณรัฐเกาหลี มีผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการกว่า 100 คน จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านพลังงานและขับเคลื่อนพลังงานไฮโดรเจน
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า สอวช. ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity : NDE) ภายใต้กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมความตกลงปารีส (Paris Agreement) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และมีการตั้งพันธกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายในควบคุมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เช่น การจัดทำการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDC) หรือ จัดทำเป้าหมายและแผนการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามความตกลงปารีสในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับ 300 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งต้องอาศัยวิธีการที่หลากหลายร่วมกันเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว หนึ่งในวิธีการส่งเสริมการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและจะมีบทบาทสำคัญต่อการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ คือเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture) และ การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงาน (Energy Transition) เช่น การเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงในบางอุตสาหกรรมเป็นการใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) หรือการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ในรูปแบบต่าง ๆ โดยหนึ่งในรูปแบบพลังงานหมุนเวียนที่มีความน่าสนใจคือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) โดยการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ Solar Rooftop ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินได้ ทั้งนี้ สอวช. ได้มีส่วนในการขับเคลื่อนการติดตั้ง Solar Rooftop ในมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการ มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) ซึ่งมีมหาวิทยาลัยที่เข้าในโครงการนี้กว่า 50 แห่ง
“และในวันนี้พลังงานไฮโดรเจนเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะสู่เป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เร็วขึ้น CTCN เห็นศักยภาพของประเทศไทยว่าทำได้ จึงให้ทุนในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน และพบว่าเกาหลีใต้ ได้พัฒนาก้าวหน้าไปมากและรัฐบาลให้การสนับสนุนในช่วงแรก จึงได้มอบหมายให้ NIGT ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมาเป็นที่ปรึกษาในโครงการนี้ โดยได้เข้ามาสำรวจเก็บข้อมูล นำไปวิเคราะห์ และเตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อร่วมกันผลิตพลังงานไฮโดรเจนในอนาคต” ดร.กิติพงค์ กล่าว
ดร.ซอน จีฮี หัวหน้าศูนย์ยุทธศาสตร์นานาชาติ (Head of Center for Global Strategy) ของ NIGT ได้นำเสนอเกี่ยวกับความตระหนักและการรับรู้เกี่ยวกับวิกฤติของโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากกว่า 192 ประเทศทั่วโลกที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกภายใต้ความตกลงปารีสในปี ค.ศ. 2015 และเพื่อให้ดำรงเป้าหมายดังกล่าว ความจำเป็นในการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างประเทศ จึงถูกยกมาเป็นข้อตกลงกันอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามประเทศกำลังพัฒนา ก็ต้องการการสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยี เพื่อบรรลุพันธะกรณีกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในระดับการปกครองภายในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ก็มีการจัดตั้งกลไกทางเทคนิคเพื่อเป็นช่องทางในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยี และเพิ่มความร่วมมือกันระดับประเทศตลอดจนมีกลไกช่วยเหลือทางการเงินร่วมด้วย
ดร.ปาร์ค ชุลโฮ ผู้อำนวยการทั่วไป (Director General) ของ NIGT ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ Development of a National Hydrogen Strategy and Action Plan for Accelerating Thailand’s Net-zero Target กล่าวถึง ความคืบหน้าในการจัดทำยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนแห่งชาติ และแผนปฏิบัติการเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ทาง NIGT ได้จัดทำขึ้น จากการตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ 5 ประการคือ 1) โครงการดังกล่าวจะสามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ซึ่งเราได้หาคำตอบโดยการทำจัดทำยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนแห่งชาติ และแผนปฏิบัติการเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ 2) ประเทศไทยสามารถใช้พลังงานไฮโดรเจนได้จากที่ไหน ซึ่งคำตอบคือ เราจำเป็นต้องมีรากฐานการใช้ภายในประเทศด้วย ซึ่งมีการประเมินจากภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศ 3 ภาคส่วน 3) เทคโนโลยีในการผลิตไฮโดรเจนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทยคืออะไร เพื่อเป็นหลักประกันการผลิตไฮโดรเจนในเชิงกลยุทธ์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมุ่งเน้นในการตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีผลิตไฮโดรเจนพลังงานที่เหมาะสมที่สุด 4) เราจะทำให้เทคโนโลยีไฮโดรเจน เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นคำถามหลักโดย NIGT ได้เตรียมกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการโฮโดรเจนแห่งชาติไว้แล้ว และ 5) เราจะสามารถแบ่งปันประสบการณ์ของเกาหลีให้กับประเทศไทยได้อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้จำเป็นต้องมีแนวทางในการดำเนินงานสามารถแชร์ประสบการณ์การดำเนินงานของเกาหลีได้ จึงได้จัดกิจกรรมเพิ่มขีดความสามารถในการรับรู้ให้เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมานำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาไฮโดรเจนในภาคธุรกิจ ได้มีการนำเสนอรูปแบบการทำแบบจำลองธุรกิจ (Business model) ผ่านการดำเนินงานของศูนย์วิจัยต้นแบบการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแบบครบวงจร ณ Chungju Food Waste Bioenergy Center สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งนำเสนอโดย ดร.ยอ จุนโฮ ที่ได้นำเสนอรูปแบบการบริหารจัดการผ่านการลงทุนโดยภาครัฐเพื่อสร้างศูนย์ผลิต Biogas จากเศษอาหารชุมชน และนำ Biogas ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการแยกด้วยวิธีการ steam reforming ซึ่งสามารถผลิตไฮโดรเจนที่มีความบริสุทธ์และเป็นไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) โดยศูนย์ดังกล่าวมีกำลังการผลิตไฮโดรเจนอยู่ที่ 300 Nm3/h หรือประมาณ 348 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ซึ่งไฮโดรเจนแก๊สที่ผลิตได้จะถูกกักเก็บในถังด้วยกระบวนการบีบอัดแรงดันสูงก่อนที่ส่วนหนึ่งจะถูกจ่ายเข้าสู่สถานีจำหน่าย ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณศูนย์วิจัยฯ และอีกส่วนหนึ่งจะถูกขนส่งไปยังสถานีจำหน่ายอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในเมือง Chungju ต่อไป ซึ่งรูปแบบธุรกิจนี้มีลักษณะการดำเนินการที่คาดว่าน่าจะมีความเหมาะสมกับประเทศไทยในการลงทุนเพื่อสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจ และเพื่อศึกษาความเป็นไปได้รองรับการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนเที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต
ดร.ซอน จีฮี ได้อธิบายถึงกลไกทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Finance Mechanisms) ว่ามีการมุ่งเน้นไปที่กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา สร้างกิจกรรมการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นหน่วยงานเชิงปฏิบัติการของกลไกทางการเงินของ UNFCCC การรับความช่วยเหลือจาก GCF ในประเทศไทยยังมีความซับซ้อนในหลายขั้นตอน ทั้งยังต้องมีการยื่นหนังสือแสดงความจำนงอย่างเป็นทางการจากหน่วยประสานงานหลัก (National Designated Authority: NDA) ของแต่ละประเทศ โดยจะมีีการตรวจสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ของหน่วยงานที่ยื่นความจำนง และส่งต่อไปยังหน่วยงานปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง (Accredited Entities: AE) ซึ่งขั้นตอนในช่วงแรกนี้มีความสำคัญมากต่อการตัดสินใจทิศทางในการดำเนินโครงการ ซึ่งสิ่งที่ประเทศไทยต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติมคือการมีหน่วยงานปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง (AE) ที่มาจากประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีโอกาสได้รับการสนับสนุนทางการเงินได้มากขึ้น รวมไปถึงการนำเสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น พลังงานไฮโดรเจน ในเวทีระหว่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างโอกาสการได้รับการสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการด้านพลังงานไฮโดรเจน
ดร.คิม โซอึน นักวิจัยจาก NIGT ได้ขยายความถึงบทบาทและตัวอย่างของ Accredited Entities and Cases of Technology Financing ว่า AEs เป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรอง และส่งข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านเงินทุน ให้แก่คณะกรรมการ GCF พิจารณา ซึ่งการสนับสนุนด้านการเงินมีทั้งการสนับสนุนแบบให้เปล่า และในรูปแบบเงินกู้ ซึ่ง AE สามารถเป็นได้ทั้งหน่วยงานระดับภูมิภาคและหน่วยงานระดับประเทศ ในการนี้ได้ยกตัวอย่างหน่วยงานที่ได้รับการอนุญาตในเกาหลีใต้และประเทศไทยพร้อมทั้งบทบาทการทำงาน
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายวิศรุจน์ เมืองปลื้ม ตัวแทนจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยประสานงานหลัก หรือ National Designated Authorities (NDAs) นางสุกันยา ทองธำรงค์ ในฐานะ AE จาก โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) และ ดร. ธนา ศรชำนิ ตัวแทนจาก Hydrogen Thailand Club ได้ร่วมแลกเปลี่ยนโครงการที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจน และโอกาสที่จะเชื่อมโยงไปยังแหล่งเงินทุน ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปคือ 1) พลังงานไฮโดรเจนเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เป็นสิ่งที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายในการพัฒนาไว้เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในวิธีการบรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ 2) ภาคธุรกิจและเอกชนเป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพทั้งด้านการผลิตและใช้ประโยชน์จากพลังงานไฮโดรเจน แต่พลังงานไฮโดรเจนยังมีข้อจำกัดสำคัญคือต้นทุนและการลงทุนที่ยังสูงอยู่ 3) หากประเทศไทยจะมีการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนอย่างจริงจัง ในช่วงแรกของการพัฒนาจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และการสนับสนุนจากกลไกการเงินระหว่างประเทศ และ 4) ปัจจุบันกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานประสานงานหลักของกองทุนภูมิอากาศสีเขียว ซึ่งมีบทบาทในการจัดเตรียมเอกสารและข้อมูลโครงการเพื่อเสนอต่อกองทุนภูมิอากาศสีเขียว รวมถึงมีส่วนในการช่วยหาหน่วยงานที่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ได้รับการอนุญาตของประเทศไทยด้วย