กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ BOI และสมาคมแผงวงจรไต้หวัน จัดโครงการ Online Job Matching คัดเลือกนักศึกษาจบใหม่ร่วมงานกับบริษัทเอกชนชั้นนำจากไต้หวัน สัมภาษณ์ผ่านเริ่มงานได้ทันที
กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมกับ BOI และสมาคมแผงวงจรไต้หวัน จัดโครงการ Online Job Matching คัดเลือกนักศึกษาจบใหม่ร่วมงานกับบริษัทเอกชนชั้นนำจากไต้หวัน สัมภาษณ์ผ่านเริ่มงานได้ทันที
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment of Thailand: BOI) และ สมาคมแผงวงจรไต้หวัน (Taiwan Printed Circuit Association : TPCA) ร่วมกันจัดโครงการ Online Job Matching สัมภาษณ์และรับสมัครงานทางออนไลน์โดยตรงจากบริษัทเอกชนชั้นนำในอุตสาหกรรมการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) จากไต้หวันที่มาตั้งโรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยงานครั้งนี้จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า ถือเป็นนิมิตหมายอันดีในการจัดงาน online job matching ขึ้นมา จากที่เราทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์มีความสำคัญ และมีหลายบริษัทที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทย การจัดโครงการนี้จึงเป็นโอกาสให้นักศึกษาไทยได้ทราบถึงความต้องการของบริษัท ทักษะ คุณลักษณะต่าง ๆ นำไปสู่การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าไปทำงานจริง ซึ่งจากการเปิดรับสมัครคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ ได้รับความสนใจจากนิสิตและนักศึกษาทั่วประเทศ มีผู้สมัครเข้าร่วมกว่า 338 คน จากมหาวิทยาลัยทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
“กระทรวง อว. ยินดีสนับสนุนในเรื่องนี้ เพื่อให้การพัฒนากำลังคนของประเทศเป็นไปตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฮเทค อุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่วยส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน สร้างโอกาสการทำงานให้นักศึกษาไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทที่มีเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของบัณฑิตไทยที่เป็นบุคลากรสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานสมาคมสหกิจศึกษาโลก กล่าวว่า ทีมงานทุกคนเชื่อมั่นและเห็นเป้าหมายร่วมกันว่าการเตรียมคนมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ถ้าเราเตรียมคนได้ดีก็มีแนวโน้มที่บริษัทไต้หวันจะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น หลังจากโครงการนำร่องทำ job matching ต่อไปเราจะมุ่งเข้าไปเตรียมคนตั้งแต่ปี 1 - ปี 4 ในรูปแบบสหกิจในเชิงบูรณาการ สร้างคนที่มีคุณภาพ เข้าใจวัฒนธรรม อุตสาหกรรม เทคโนโลยี และมีทักษะทางสังคม (soft skill) เพื่อเข้าไปช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ และการพัฒนาคนจะไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เราจะเข้าไปติดตาม ประเมิน วิเคราะห์ วิจัย เพื่อจะใช้รูปแบบแซนด์บ็อกซ์ของ PCB ในการพัฒนาคนไทยให้เป็นคนที่มีศักยภาพระดับโลก ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแนวหน้าและตอบโจทย์ประเทศ
ด้าน Mr.Gordius Chang ที่ปรึกษา TPCA กล่าวว่า TPCA ได้จัดตั้ง PCB Academy มาตั้งแต่ปี 2548 มีการฝึกอบรมวิชาชีพและความร่วมมือทางอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา การสอบวัดระดับความสามารถในอุตสาหกรรม การฝึกงาน การประกวดวิทยานิพนธ์ และการสนับสนุนการวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอก การตีพิมพ์หนังสือวิชาชีพต่าง ๆ เสริมสร้างพื้นฐานบุคลากร และเสริมสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรม ยกระดับคุณค่าของอุตสาหกรรม และจากการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2558 มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้กลายเป็นสนามแข่งขันใหม่สำหรับองค์กรระหว่างประเทศ และตั้งแต่ปี 2566อุตสาหกรรม PCB ในไต้หวันก็เริ่มขยายตัวเข้ามาในประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน ทำให้เกิดความต้องการแรงงานและการฝึกอบรมทางวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น
ในปี 2566 ที่ผ่านมา ด้วยความช่วยเหลือจากสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (TTEO) ทำให้เกิดการประชุมความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาของไทยครั้งแรก เป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างไต้หวันกับไทย และในปี 2567 ช่วงเดือนมีนาคม ยังได้มีการประชุมด้านบุคลากร PCB จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีสถาบันจากไต้หวัน 10 แห่ง และสถาบันการศึกษาในไทย 11 แห่ง เข้าร่วมเพื่อนำไปสู่การสร้างความร่วมมือด้านบุคลากรในอนาคตที่จะเกิดขึ้นในไต้หวันและประเทศไทย
“ขอบคุณกระทรวง อว. สอวช. สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเปประจำประเทศไทย (Thailand Trade and Economic Office: TTEO) BOI และ สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย (THPCA) ที่ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือในการวางแผนกิจกรรม เชิญชวนอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทยมาเข้าร่วม ทำให้กิจกรรมเป็นไปได้อย่างราบรื่น รวมถึงขอบคุณอาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาในไทย และพันธมิตรด้านทรัพยากรบุคคล หรือ HR ทุกท่าน หวังว่าจะได้สร้างความร่วมมือเพื่อดำเนินกลยุทธ์ด้านบุคลากร และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยร่วมกัน” Mr.Gordius กล่าว
งานครั้งนี้ยังเปิดพื้นที่ให้บริษัทเอกชนชั้นนำในอุตสาหกรรม PCB จากไต้หวันรวม 6 บริษัท ได้แก่ Gold Circuit Electronics (Thailand) Co. Ltd. (ปราจีนบุรี) Unimicron (Thailand) Co. Ltd. (ฉะเชิงเทรา) Unitech Printed Circuit Board (Thailand) Co. Ltd. (อ่างทอง) Dynamic Technology Manufacturing (Thailand) Co.Ltd (ปราจีนบุรี) Zhen Ding Tech. Group Technology Holding Ltd. (ปราจีนบุรี) C Sun (Thailand) Co. Ltd. (กรุงเทพฯ) ได้มานำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท รวมถึงตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร เพื่อเป็นข้อมูลให้กับนักศึกษาในการเลือกเข้าสมัครงานด้วย โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและผ่านการสัมภาษณ์งาน สามารถเริ่มงานได้ทันที ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน - ธันวาคม 2567 ขึ้นอยู่กับตำแหน่งงานและข้อกำหนดของแต่ละบริษัท มีอัตราเงินเดือนเริ่มต้น 20000 บาท ถึง 40000 บาทและผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในระดับดี ยังมีโอกาสได้ไปทำงานที่ไต้หวันอีกด้วย
ในช่วงท้ายของกิจกรรม นางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่นิสิตและนักศึกษาที่สนใจร่วมงานกับบริษัทชั้นนำจากไต้หวัน โดยการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลการสมัครงาน และการแสดงความประสงค์ในตำแหน่งงานที่สนใจ พร้อมกับวันที่พร้อมเริ่มงานผ่านกลไกการทำงานของแพลตฟอร์ม STEMPlus ที่สนับสนุนและเชื่อมโยงการผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่ตอบโจทย์การลงทุนของภาคการผลิตและบริการ
สามารถติดตามรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมได้ที่: https://stemplus.or.th/news-detail/46