สสส. และภาคี 19 จังหวัด 210 ตำบล จับมือ สศช. ยกระดับบทเรียน 5 ปีของการทำงานด้านเด็กและครอบครัวด้วยแนวคิด “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” และแนวคิด “ชุมชนนำ” สู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (System Change) เพื่อให้เกิดระบบสนับสนุนเด็กและครอบครัวทุกระดับ สอดคล้องกับแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว หลังพบเด็กกว่า 60% ครอบครัวมีรายได้น้อย เปราะบาง เสี่ยงต่อคุณภาพชีวิต

สสส. และภาคี 19 จังหวัด 210 ตำบล จับมือ สศช. ยกระดับบทเรียน 5 ปีของการทำงานด้านเด็กและครอบครัวด้วยแนวคิด “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” และแนวคิด “ชุมชนนำ” สู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (System Change) เพื่อให้เกิดระบบสนับสนุนเด็กและครอบครัวทุกระดับ สอดคล้องกับแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว หลังพบเด็กกว่า 60% ครอบครัวมีรายได้น้อย เปราะบาง เสี่ยงต่อคุณภาพชีวิต

   เมื่อ : 10 มิ.ย. 2567

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2567 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในเวทีสนทนาเชิงนโยบายเรื่องระบบสนับสนุนเด็กและครอบครัวระดับพื้นที่ : การปรับเปลี่ยนเชิงกลไกและนโยบาย จัดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า สศช. มุ่งสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ และพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและการเลี้ยงดูบุตร เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยมีกรอบแนวทางการพัฒนาประชากร 3 ด้าน 1.การเกิดอย่างมีคุณภาพ 2.การอยู่อย่างมีคุณภาพ 3.การแก่และตายอย่างมีคุณภาพ ที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนสังคมให้เกิดค่านิยมในการพัฒนาเด็กที่มีคุณภาพ ผลักดันนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว พัฒนาระบบหนุนการวางนโยบายเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว และร่วมกับ สสส. สนับสนุนการพัฒนาครอบครัวและเด็กผ่านแนวคิดชุมชนนำ โดยให้ชุมชนได้ออกแบบกิจกรรมและเครื่องมือใช้ในการพัฒนาเด็กที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมในชุมชนที่ปลอดภัย และเอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้สำหรับการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก เกิดระบบข้อมูลกลางของกลุ่มเด็กปฐมวัยในครอบครัวรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นฐานให้ชุมชน อำเภอ และจังหวัด ใช้ประโยชน์ในการกำหนดเครื่องมือ นวัตกรรม สำหรับพัฒนาและช่วยเหลือเด็กอย่างเป็นระบบ

“การจัดเวทีฯ ครั้งนี้ เป็นการถอดบทเรียน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและครอบครัวในแต่ละพื้นที่ รวมถึงสานพลังเครือข่ายชุมชนและท้องถิ่น ร่วมกำหนดกลไกและนโยบายในการดูแลคุ้มครองเด็กโดยเฉพาะครอบครัวยากจน เปราะบาง ทั้งนี้ สศช. เตรียมนำข้อสรุปแนวคิดชุมชนนำ ไปวิเคราะห์เพื่อหาประเด็นที่เป็นจุดคานงัดที่จะสามารถนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเชิงกลไกและนโยบาย พร้อมทั้งวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินการ เพื่อนำไปจัดโฟกัสกรุ๊ป ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องให้ตกผลึกก่อนจะพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป ในการปรับระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของท้องถิ่น และภาคีทุกภาคส่วน นำไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ ตามแผนพัฒนาประชากรเพื่อพัฒนาประเทศระยะยาว พ.ศ. 2565-2580 มุ่งเป้าให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานส่วนกลางและท้องถิ่น บูรณาการความร่วมมือของทุกคนในพื้นที่ และสร้างระบบนิเวศชุมชนให้เอื้อต่อการพัฒนาและดูแลเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” น.ส.วรวรรณ กล่าว

   น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส. มีเป้าหมายในการส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน โดยเน้น 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.เพิ่มขีดความสามารถให้แก่ครอบครัวและชุมชน 2.ส่งเสริมพื้นที่เล่นและเรียนรู้ใกล้บ้าน 3.พัฒนาระบบสนับสนุนเด็กและครอบครัวแบบไร้รอยต่อ 4.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการพัฒนาสังคมสุขภาวะ ปัจจุบันเด็กทั่วประเทศมากกว่า 60% อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย มีปัจจัยความเปราะบาง เกิดปัญหาทับซ้อน และยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด กระทบต่อความอยู่ดีมีสุข จึงต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุนในการเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพ ต้องการคำแนะนำปรึกษา รวมถึงกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและทักษะต่าง ๆ ของเด็ก สอดคล้องกับรายงานผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565 พบ 50% ของเด็กไทย อายุ 1-14 ปี ถูกกระทำความรุนแรงจากครอบครัว นอกจากนี้ ยังพบเด็กและเยาวชน 138000 คน ถูกทอดทิ้งให้กำพร้า สะท้อนปัญหาพ่อแม่ขาดความพร้อม และทักษะในการเลี้ยงดูบุตร

               น.ส.ณัฐยา กล่าวต่อว่า สสส. และภาคีเครือข่าย 19 จังหวัดต้นแบบ ได้ถอดบทเรียนการทำงานด้านเด็กและครอบครัวแบบชุมชนนำ และพร้อมสนับสนุนให้ สศช. นำแนวคิดและบทเรียนการทำงานต่างๆ ไปพัฒนาเป็นมาตรการภายใต้แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ผ่านแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1.ปลดล็อกระเบียบ ข้อจำกัด การทำงานด้านเด็กและครอบครัวของท้องถิ่นให้ครอบคลุมและทันต่อสถานการณ์ 2.เน้นให้ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น ร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้แก่เด็กทุกช่วงวัย 3.เชื่อมโยงพลังจิตอาสาในแต่ละพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากิจกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน โดยไม่ทิ้งกลุ่มเปราะบางไว้ข้างหลัง

  “การพัฒนาสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ของสสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายท้องถิ่นขับเคลื่อนงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ในระดับตำบลอย่างต่อเนื่อง โดยใช้โมเดลเลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน ผสานกับแนวคิดชุมชนนำ มีตำบลเข้าร่วม 210 แห่ง จาก 19 จังหวัด ในจำนวนนี้ถูกยกระดับเป็นชุมชนต้นแบบด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก ครอบครัว และสถานศึกษาให้มีสุขภาวะและกลไกส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก 60 แห่ง เกิดชุดองค์ความรู้ เครื่องมือ และนวัตกรรมสร้างสุขภาวะในเด็กและครอบครัว ตำบลต้นแบบจะช่วยกันส่งต่อแนวคิดและบทเรียนการทำงานสู่พื้นที่ข้างเคียง ส่วน สสส. จะช่วยยกระดับความเข้มแข็งของทีมสหวิชาชีพในระดับจังหวัดเพื่อเชื่อมต่อบริการกับระบบการทำงานในระดับพื้นที่ เราหวังว่าการทำงานร่วมกันในแนวทางนี้จะทำให้เกิดระบบสนับสนุนเด็กและครอบครัวแบบไร้รอยต่อเกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทย สำหรับพื้นที่อื่นๆ หรือจังหวัดอื่นที่สนใจ สามารถติดต่อมายัง สสส. เพื่อหารือแนวทางทำงานร่วมกันได้ ” น.ส.ณัฐยา กล่าว