สอศ.ร่วมกับ ศูนย์ CLEC เปิดป้าย ห้องปฏิบัติการภาษาจีน ระดับอาชีวศึกษาแห่งแรกของโลกที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี

สอศ.ร่วมกับ ศูนย์ CLEC เปิดป้าย ห้องปฏิบัติการภาษาจีน ระดับอาชีวศึกษาแห่งแรกของโลกที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี

   เมื่อ : 30 เม.ย. 2567

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ได้จัดพิธีเปิดป้าย “ ห้องปฏิบัติการภาษาจีน วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี” โดยมีสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) เป็นประธาน นายปราชญา  อุ่นเพชรวรากร  รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวต้อนรับ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา กล่าวความเป็นมาและการขับเคลื่อนทวิวุฒิ ไทย-จีน นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี  มร.จ้าว  เหยียนชิง ( Mr.Zhao  Yanqing)  ผู้อำนวยการศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริม  ความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานกรุงเทพ  และมร. จง หง โบ (Mr.Zhong hong bo)  อธิบดีกรมการศึกษา มณฑลซานตง  สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวสนับสนุนการดำเนินงานความร่วมมือ ณ ห้องประชุมทิวสน และห้องปฏิบัติการภาษาจีน วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี

สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล กล่าววว่า ภาษาเป็นกุญแจสำคัญในการศึกษาประเทศนั้น การศึกษาภาษาจีนจึงเป็น สะพานเชื่อมในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยและประเทศจีนมีการเชื่อมต่อกันทางด้านภูมิศาสตร์ ประชาชนของสองประเทศมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประเทศไทยมีประวัติการเรียน การสอนภาษาจีนยาวนานมาก ปัจจุบันนี้นับได้ว่าการเรียนการสอนภาษาจีนได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการส่งเสริมสร้างมิตรภาพอันแน่นแฟ้นและส่งเสริม สายสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนสองประเทศ ดังคำกล่าวที่ว่า “ไทย-จีน มิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” โดยการเปิดห้องปฏิบัติการภาษาจีนระดับอาชีวศึกษาแห่งแรกของโลก นอกจากจะสอนภาษาและวัฒนธรรมไทย-จีนให้แก่นักเรียนนักศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคชลบุรีแล้วยังได้เปิดสอนแก่ข้าราชการและประชาชนทั่วไปอีกด้วย จึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีนจากเจ้าของภาษาโดยตรง จึงขอให้นักเรียนนักศึกษาทุกคน จงตั้งใจเรียนและเก็บเกี่ยวความรู้ให้มากที่สุดเพราะจะเป็นประโยชน์แก่ตนเองอย่างแน่นอน

เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ลงนามความร่วมมือกับศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (Center for Language Education and Cooperation: CLEC) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งสถาบันภาษาจีนและการศึกษาอบรมด้านเทคนิคและอาชีวะ ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรมความร่วมมือด้านภาษาจีน  เช่น การส่งครูสอนภาษาจีนมาสอนในประเทศไทย  การพัฒนาครูไทยในการสอนภาษาจีน การสร้างโอกาสให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาได้เข้าฝึกงานในสถานประกอบการของจีน  การพัฒนาหลักสูตรเพื่อ ไทย-จีน และการเพิ่มช่องทางการฝึกอบรมครูจีนในประเทศไทย   โดยการจัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการภาษาจีน วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี” ในวันนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งในการขับเคลื่อนภารกิจ ของการดำเนินงาน ภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (CLEC)  ซึ่งจะเกิดขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรม เป็นกลไกสร้างผู้เรียนให้มีความสามารถทางภาษาจีน เตรียมพร้อม รองรับการการเติบโตของเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม  และห้องปฏิบัติทางภาษาจะเป็นศูนย์กลาง เพื่อพัฒนาบุคลากรของอาชีวศึกษา และในวัฒนธรรม ภาษา ตลอดจนทักษะและสมรรถนะทางวิชาชีพ ให้เกิดเป็นผลสำเร็จอย่างสมบูรณ์ พร้อมผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจของสองประเทศ ด้วยมิตรภาพระหว่างจีนและไทย ซึ่งจะคงอยู่ตลอดไป ผมขอกราบนมัสการขอบคุณเจ้าประคุณเจ้าสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) และทุกฝ่ายที่ได้ให้การสนับสนุนในการจัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการภาษาจีน วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี”หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทักษะภาษาจีนให้กับนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากรในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และประชาชนต่อไปในอนาคต

 

ทั้งนี้ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ได้รับการสนับสนุนจาก สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ทั้งในเรื่องทุนการศึกษา และให้แนวทางการทำงานแก่คณะผู้บริหาร ครู  วิทยาลัยเทคนิคชลบุรีอย่างต่อเนื่องตลอดมา

โดยจากการพบกันระหว่าง สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี  และนายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2565 ณ วัดเนื่องจำนงค์ ได้ดำริให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี  สนับสนุนพัฒนา“ห้องปฏิบัติการภาษาจีน” แก่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี  องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี จึงผลักดันงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566  ปรับปรุงห้องปฏิบัติการภาษาจีน ให้แก่ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ซึ่งแล้วเสร็จสมบูรณ์ในวันนี้ ตลอดจนวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการขับเคลื่อน เพื่อเป็นสถานศึกษาของชุมชน โดยได้จัดอบรมหลักสูตร “ทักษะสื่อสารภาษาจีนเพื่อบริการประชาชน”  ซึ่งรุ่นที่ 1  จำนวน 80 คน ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน หน่วยงานรัฐ  หน่วยงานภาคบริการประชาชน  หน่วยงานในท้องถิ่น และสถานประกอบการ โดยดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อปี 2566  และขณะนี้อยู่ระหว่างการฝึกอบรม รุ่นที่ 2 จำนวน 30 คน

 

สำหรับโครงการความร่วมมือของ CLEC  โดย วิทยาลัยโปลีเทคนิคซานตง ได้ให้การสนับสนุนทุนการศึกษา รูปแบบทวิวุฒิ  (1 1 1)  สาขา ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รุ่นที่  1  และรุ่นที่ 2  รวม จำนวน 35 ทุน เพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากสถาบันชั้นนำของสาธารณรัฐประชาชนจีน และเพื่อความร่วมมือที่เข้มแข็งมุ่งมั่น  วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี  และ วิทยาลัยโปลีเทคนิคซานตง จึงได้ยกระดับความร่วมมือ เพิ่มขึ้น เป็น 3 ฝ่าย   โดยได้รับความร่วมมือ จากบริษัท Win-here ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ระดับโลก  มีบริษัทแม่ตั้งอยู่ มณฑลซานตรง และ บริษัท Win-hereประเทศไทย  ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ จังหวัดระยอง    ภายใต้ “โครงการ Ban-mo ” (ลงนามในบันทึกข้อตกลง เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2566 ณ เมืองจี่หนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน)   มีเป้าหมายการดำเนินการดังนี้ 1. ยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอน ทวิวุฒิ ไทย-จีน โดยร่วมมือกับสถานประกอบจีน 2. นักศึกษาจะได้เข้าฝึกประสบการณ์ และได้รับทุนการศึกษาตลอดการฝึกงาน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน 3. นักศึกษาได้รับบรรจุ เข้าทำงานในสถานประกอบการทันที โดยรับอัตราเงินเดือนสูง ไม่น้อยกว่า 25000 บาท  นอกจากนี้ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี  ยังได้ขยายความร่วมมือ ส่งนักศึกษาไปศึกษาต่อ และฝึกประสบการณ์ เพิ่มขึ้นอีกหลายสาขา ได้แก่ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน  ศึกษาต่อ ณ วิทยาลัยฝูเจี้ยนโพลิเทคนิค และวิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศเทียนจิน สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์ ศึกษาต่อ ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาไหลอู๋  และสาขาวิชาเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง  ศึกษาต่อ ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีขนส่งระบบรางจี๋หลิน ดังนั้น โครงการความร่วมมือของ CLEC   และเครือข่ายความร่วมมือ ไทย – จีน จึงเป็นกลไกสำคัญ ขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทย ภายใต้ ความสัมพันธ์ ไทย-จีน ยกระดับคุณภาพการอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐานสากล ควบคู่กับการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาที่มีสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ