“ศุภมาส” หารือ อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส หาแนวทางขับเคลื่อน “อว. for AI” อย่างยั่งยืน เตรียมจับมือร่วมพัฒนา “ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA” ของไทย พร้อมกระจายการเข้าถึงเครื่องมือทางดิจิทัลคุณภาพดีให้นักศึกษาทั่วประเทศ เปิด “คอร์ส AI” ให้เรียนฟรี มีใบประกาศนียบัตรรับรองเข้าทำงานบริษัทต่างชาติได้
“ศุภมาส” หารือ อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส หาแนวทางขับเคลื่อน “อว. for AI” อย่างยั่งยืน เตรียมจับมือร่วมพัฒนา “ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA” ของไทย พร้อมกระจายการเข้าถึงเครื่องมือทางดิจิทัลคุณภาพดีให้นักศึกษาทั่วประเทศ เปิด “คอร์ส AI” ให้เรียนฟรี มีใบประกาศนียบัตรรับรองเข้าทำงานบริษัทต่างชาติได้
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.67 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมหารือกับคณะผู้บริหารของ Amazon Web Services (AWS) ประกอบด้วย นายแอริค คอนราด กรรมการผู้จัดการสำหรับกลุ่มลูกค้าภาครัฐประจำภูมิภาคอาเซียน นายจูเลียน เลา ผู้นำสำหรับกลุ่มลูกค้าภาครัฐประจำภูมิภาคอาเซียน นางสาวทัศลักษณ์ แก้วไทรเกิด ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ภาคการศึกษา และวิจัยประจำประเทศไทย และนายอดิศร์ หะริณสุต ผู้จัดการฝ่ายดูแลกลุ่มลูกค้าภาครัฐประจำประเทศไทย ที่ห้องประชุม 115 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ภายหลังการหารือ น.ส.ศุภมาส เปิดเผยว่า การหารือในครั้งนี้เป็นการแสวงหาความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวง อว.กับ AWS เพื่อนำ Amazon Web Services ซึ่งเป็นระบบคลาวด์ที่ครอบคลุมและถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดในโลก ซึ่งรวมถึงบริการโครงสร้างพื้นฐานระบบไอทีสำหรับองค์กร และแพลตฟอร์มการให้บริการสำหรับนักพัฒนาซอฟท์แวร์และแอพพลิเคชั่น รวมถึงเครื่องมือในการพัฒนา AI มาใช้และเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวง อว. ที่มีอยู่แล้ว เช่น ระบบซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และแพลตฟอร์มด้านการศึกษาของกระทรวง อว. เช่น ThaiMOOC เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย อว. For AI โดยทาง AWS ได้นำเสนอบริการต่างๆ ที่หลากหลายของ AWS ที่ถูกใช้งานในธุรกิจและองค์กรทุกประเภทในประเทศต่างๆทั่วโลก ตั้งแต่ระดับองค์กรขนาดใหญ่ของภาครัฐ มหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น เอ็มไอที ฮาร์วาร์ด และสแตนฟอร์ด ไปจนถึงบริษัทสตาร์ตอัพ และทุก ๆ อุตสาหกรรม โดยเครื่องมือและบริการของ AWS ครอบคลุม ตั้งแต่การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที การใช้บริการเซิร์ฟเวอร์และสตอเรจหรือหน่วยเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ การสร้างและดูแลเว็บไซต์ ระบบอี-คอมเมิร์ซ การสร้างแอปพลิเคชัน การส่งเสริมการทำงานระยะไกล (Remote Working) การใช้ระบบ IoT เพื่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงโซลูชั่นหรือเพื่อการแก้ปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย
รมว.อว. กล่าวต่อว่า AWS มีแผนจะเปิดตัว AWS Thailand Region ในช่วงต้นปี 2568 ด้วยเม็ดเงินลงทุนในไทยกว่า 1.9 แสนล้านบาท จึงเป็นโอกาสที่ดีของ อว. ที่จะสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้ง การศึกษา การวิจัย และสนับสนุนภาคธุรกิจ เพื่อให้นักคึกษา อาจารย์ นักวิจัย ผู้ประกอบการ ได้เข้าถึงเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด เพื่อใช้เรียนรู้ สร้างรายได้ สร้างนวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจได้ โดยจากการหารือครั้งนี้ทำให้เกิดความร่วมมือที่จะผนึกการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ระหว่างกระทรวง อว. โดย สวทช. และสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) กับ AWS นอกจากนี้ ยังมี NetDragon Websoft บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังของจีนเข้ามาร่วมด้วย โดยการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างระบบซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA เพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ และ UniNet จะเป็นเสมือนเครื่องยนต์สำคัญที่จะทำให้เกิดโซลูชั่นและบริการที่พัฒนาขึ้นกระจายไปถึงนักศึกษาทั่วประเทศ ทำให้นักศึกษาเข้าถึงเครื่องมือทางดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลต่อการขยับอันดับความสามารถด้านดิจิทัล (Digital Ranking) ที่ดีขึ้นของอุดมศึกษาไทยได้
“นอกจากนี้ AWS จะร่วมกับกระทรวง อว. เปิดคอร์สเรียนฟรีต่างๆ เช่น คอร์ส AI ที่จะมีใบประกาศนียบัตรมอบให้ เพื่อรับรองความสามารถของนักศึกษาไทย เพื่อใช้ประกอบการสมัครงานในบริษัทต่างชาติได้ ที่สำคัญ AWS ยังสามารถเชื่อมต่อกับ 3000 พันธมิตรทางเทคโนโลยี(Tech Partners) ที่เป็นภาคธุรกิจได้ ทำให้สามารถร่วมกันสร้างงานวิจัยและนำไปใช้ได้ทันที สร้างธุรกิจใหม่ที่เติบโตอย่างมหาศาล ซึ่งตนได้เน้นย้ำเรื่องโซลูชั่นที่จะเกิดขึ้นต้องมีราคาเข้าถึงได้และคุณภาพดี เพื่อให้นักเรียนและนักศึกษาทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยหลังจากนี้ คณะทำงานที่มาจากหลายฝ่ายจะประชุมร่วมกันเพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานทั้งระยะสั้น กลาง ยาว และนำส่งให้ตนพิจารณาต่อไป“ น.ส.ศุภมาส กล่าว