กระทรวง ศธ. และ อว. ผนึกกำลัง 4 พันธมิตรด้านการศึกษา พัฒนาผู้เรียน ผู้สอน เติมทักษะด้าน AI ควบคู่จริยธรรมการนำไปใช้ประโยชน์จาก AI

กระทรวง ศธ. และ อว. ผนึกกำลัง 4 พันธมิตรด้านการศึกษา พัฒนาผู้เรียน ผู้สอน เติมทักษะด้าน AI ควบคู่จริยธรรมการนำไปใช้ประโยชน์จาก AI

   เมื่อ : 4 ก.ค. 2567

(วันที่ 4 กรกฎาคม 2567) ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.): กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ “โครงการขับเคลื่อนการสอนปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถาบัน การศึกษา” เพื่อสร้างผู้สอน นักเรียนทุกคน ทุกช่วงชั้น ให้มีความรู้ด้าน AI มีความเข้าใจและตระหนัก เรื่องจริยธรรมของการนำไปใช้ประโยชน์ (ethical considerations) เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล และรองรับตลาดแรงงานสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 โอกาสนี้ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กล่าวแสดงความยินดีและมอบนโยบายที่เกี่ยวข้อง

พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการขับเคลื่อนการสอนปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถาบันการศึกษา เพราะโลกการศึกษาในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นประเด็นความท้าทายด้านการศึกษาของประเทศไทย การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงระบบดิจิทัลเข้ามาใช้พัฒนาผู้เรียน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษาได้ โดยเฉพาะผู้เรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล หรือโรงเรียนขนาดเล็กที่ครูผู้สอนไม่ครบชั้น ขาดแคลนสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอน โดยทุกวันนี้ AI ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันการทำงานและการศึกษา ดังนั้น นักเรียน นักศึกษาจะต้องได้รับทักษะใหม่ ๆ เช่น ทักษะในการคิด การวิเคราะห์ การตัดสินใจ การสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งกระทรวงศึกษาฯ คาดหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปปรับใช้เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการจัดการศึกษาในโลกอนาคตที่สอดคล้องกับเด็กไทย เราต้องมาร่วมมือกันพัฒนาผู้เรียนทุกช่วงวัยตามนโยบายการทำงาน “การจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ส่งต่อจากระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา สู่ระดับอุดมศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพ

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มีบทบาทสำคัญในทุกแง่มุมของชีวิต ทั้งทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต กระทรวง อว. เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการศึกษามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้กับเด็กไทย ให้นักเรียนทุกคนมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการใช้ AI  เข้าใจถึงประโยชน์และความเสี่ยง รวมไปถึงจริยธรรมในการใช้งาน ซึ่ง “โครงการขับเคลื่อนการสอนปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถาบันการศึกษา” เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของ “อว. for AI” ที่เน้นการพัฒนาทักษะและสร้างบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์ให้กับนักเรียนไทยตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการสอนปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถาบันการศึกษา และขอแสดงความยินดีกับความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทยให้ตอบสนองกับความต้องการของศตวรรษที่ 21 
สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) หรือ National AI Strategy สนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนากำลังคน AI ระดับต้น (Beginner) ในการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่จำเป็นในการใช้ AI  เพื่อต่อยอดไปสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวหน้าต่อไป

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ความคาดหวังจากความร่วมมือโครงการฯ นอกเหนือจากที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นทักษะที่สำคัญสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่แล้ว การดำเนินโครงการยังมีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนของการเปิดให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา มีการวัดผลการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล (Adaptive Education) ที่สามารถติดตาม วิเคราะห์ และประเมินผลการเรียนรู้แบบเรียลไทม์ นำไปสู่การออกแบบใบรับรองความสามารถ (Micro-Credentials) รวมถึงสะสมเครดิตการเรียนรู้ผ่านระบบธนาคารเครดิต การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย สอดคล้องกับนโยบาย “ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง” ของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นรูปธรรม

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาทั้ง 4 หน่วยงานได้ผนึกกำลังทำงานร่วมกันอย่างเหนียวแน่น โดยในการขับเคลื่อนให้เกิดการสอนเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถานศึกษาทั่วประเทศ หน่วยงานพันธมิตรสำคัญที่ได้ลงนามความร่วมมือกับ สวทช. ประกอบด้วย ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คุณยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และล่าสุด สวทช. เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรไทยให้มีความพร้อมในการใช้และการพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยเริ่มตั้งแต่ระดับพื้นฐานในโรงเรียนไปถึงระดับมหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมกับพันธมิตรในการเตรียมวางแผนการขับเคลื่อนความรู้ความเข้าใจด้านปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในระดับต้นร่วมกัน เพื่อสร้างผู้สอน นักเรียนทุกคน ทุกช่วงชั้น ให้มีความรู้ด้าน AI มีความเข้าใจและตระหนักเรื่องจริยธรรมของการนำไปใช้ประโยชน์ (ethical considerations) เป็นการเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล และรองรับตลาดแรงงานสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 โดยมีกรอบการดำเนินงาน ได้แก่ 1. สร้างหลักสูตร AI ที่มีความเหมาะสมของผู้เรียน และผู้สอน ให้สามารถถ่ายทอดความรู้ได้อย่างเหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละช่วงชั้น 2. สร้างครูผู้สอนให้มีความรู้ทางด้าน AI และการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมของการสอนแต่ละช่วงชั้น 3.สร้างมาตรฐานหลักสูตร AI เพื่อนำไปสู่การออกแบบใบรับรองความสามารถ (Micro-Credentials) 4. พัฒนาโครงการนำร่อง ก่อนส่งเสริมให้เกิดการสอนเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 5. แลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ รวมทั้งจัดฝึกอบรม และสัมมนาระหว่างบุคลากรของทั้งสองฝ่าย และดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน