รัฐมนตรี อว. ชูกลไกและนวัตกรรมลดฝุ่น PM2.5 สนับสนุนการทำงานร่วมเครือข่ายการวิจัยและหน่วยขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์

รัฐมนตรี อว. ชูกลไกและนวัตกรรมลดฝุ่น PM2.5 สนับสนุนการทำงานร่วมเครือข่ายการวิจัยและหน่วยขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์

   เมื่อ : 10 ส.ค. 2567

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การลดควันดำและ PM2.5 ของเครื่องยนต์ดีเซลด้วยสารเติมแต่งน้ำมันเชื้อเพลิง” พร้อมด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันสนับสนุนการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ซึ่งเป็นวิกฤตเรื้อรังของประเทศไทยมาต่อเนื่องและยาวนาน  และส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของคนไทย โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ศ. นพ. ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมพิธี และมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ รศ.ดร.บัณฑิต กฤตาคม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย พัฒนานวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และคุณกัณฑมาศ กฤตยานุกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการผลิต บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในครั้งนี้ ณ กระทรวง อว. 

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการรวมพลังของ 4 หน่วย มาร่วมกันวิจัยและพัฒนาสารเติมแต่งน้ำมันเชื้อเพลิง GBA เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทย ดังที่ทราบกันดีว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และมีนโยบายเร่งรัดแก้ไขปัญหานี้ในทุกมิติ ซึ่งการลงนามในวันนี้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหา การดำเนินงานในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง  กล่าวถึง วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม ได้ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดการปล่อยฝุ่น PM2.5 จากเครื่องยนต์ดีเซล การร่วมมือกันในครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง และนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตอบโจทย์ความต้องการในการแก้ไขปัญหาสภาวะสิ่งแวดล้อมของประเทศ และช่วยลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 สาเหตุหลักมาจากไอเสียรถดีเซลเก่าที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดอนุภาคขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การวิจัยพบว่าการเติมสารเติมแต่งเชื้อเพลิงที่มีออกซิเจน ซึ่งผลิตจากพืช เช่น ปาล์มน้ำมัน หรือมันสำปะหลัง จะช่วยให้การเผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น ลดการปล่อยฝุ่น PM2.5 และยังส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ

หลังจากพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการงานวิจัย “การลดควันดำและ PM2.5 ของเครื่องยนต์ดีเซลด้วยสารเติมแต่งน้ำมันเชื้อเพลิง” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ อัศวสุขี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และคุณฐิติพร วัฒนกุล นักวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ ให้การต้อนรับ และกล่าวถึงโครงการวิจัยว่า เครื่องยนต์ดีเซลด้วยสารเติมแต่งน้ำมันเชื้อเพลิง” เป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน มุ่งการลด PM2.5 จากเครื่องยนต์ดีเซลในเขตเมืองให้มีประสิทธิผลสูงสุด

การลงนามครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์จริง และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะเป็นต้นแบบในการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสนับสนุนการแก้ปัญหา PM2.5 นำไปสู่การผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ