เปิดโลกซินโครตรอนให้นักเรียนราชสีมาวิทยาห้องเรียนพิเศษและความสามารถพิเศษด้านวิทย์-คณิต

เปิดโลกซินโครตรอนให้นักเรียนราชสีมาวิทยาห้องเรียนพิเศษและความสามารถพิเศษด้านวิทย์-คณิต

   เมื่อ : 18 ก.ย. 2567

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น Short course on synchrotron Radiation สำหรับนักเรียนโรงเรียนราชสีมาวิทยาในโครงการห้องเรียนผู้มีความสามารถพิเศษ พวค. และโครงการ วมว. เปิดโลกซินโครตรอนให้เยาวชนได้สัมผัสห้องปฏิบัติการทางด้านวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ พร้อมรับฟังบรรยายพิเศษจากนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสงและนักฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาคผู้มีประสบการณ์เชี่ยวชาญ ปิดท้ายด้วยกิจกรรม Science show ที่ปูพื้นฐานความเข้าเรื่องคลื่นตั้งแต่ระดับพื้นฐาน สู่ความเข้าใจพฤติกรรมแสงซินโครตรอน

นครราชสีมา – สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จัดกิจกรรมอบรมหลักสูตรระยะสั้น Short course on synchrotron radiation สำหรับนักเรียน ม.5 - ม.6 ของโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยในโครงการห้องเรียนผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (พวค.) วันที่ 12 กันยายน 2567 และนักเรียน ม.4 ในโครงการห้องวิทยาศาสตร์ (วมว.) ศูนย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คู่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย วันที่ 17 กันยายน 2567 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน 

ดร.ศรายุทธ ตั้นมี หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร และคณะทำงานจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น Short course on synchrotron radiation กล่าวว่า “ในการอบรมครั้งนี้นักฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาคและนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง ได้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับ เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน การผลิตแสงซินโครตรอน ระบบลำเลียงแสงและเทคนิคการทดลองที่ใช้แสงซินโครตรอน ให้แก่นักเรียนผู้เข้าอบรม โอกาสนี้นักเรียนยังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยามซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการด้านแสงซินโครตรอนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวมถึงเยี่ยมชมส่วนผลิตแสงซินโครตรอนและตัวอย่างการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการวิจัยต่างๆ ด้วย” 

“นอกจากนี้นักเรียนผู้เข้าอบรมยังได้สนุกกับกิจกรรม Science Show ซึ่งมีกิจกรรมคลื่นในเส้นเชือก เพื่อให้นักเรียนทำความเข้าใจพฤติกรรมของคลื่นที่เดินทาง 2 มิติในเส้นเชือก กิจกรรมแก้วไวน์เต้นระบำ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจพฤติกรรมของคลื่นที่เดินทาง 3 มิติ เช่น คลื่นเสียง เป็นต้น กิจกรรมสเปกตรัมของแสง เพื่อให้นักเรียนเข้าใจธรรมชาติของคลื่นแสงที่ตามองเห็น และกิจกรรมธาตุในแร่หายาก ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้คลื่นในย่านเอกซเรย์เพื่อระบุธาตุที่เป็นองค์ประกอบในแร่ต่างๆ กิจกรรมทั้งหมดนี้เป็นการทำความเข้าใจเรื่องคลื่นตั้งแต่พื้นฐาน เพื่อนำไปสู่การเข้าใจพฤติกรรมของแสงซินโครตรอนได้ โดยความรู้จากการอบรมจะเป็นพื้นฐานความรู้สำหรับการเรียนในชั้นเรียน ขณะเดียวกันสถาบันฯ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้สนใจอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคตด้วย” ดร.ศรายุทธ ตั้นมี กล่าวในตอนท้าย

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ