“พลิกฟื้นอัตลักษณ์”และยกระดับผ้าย้อมห้อมเมืองแพร่ด้วย “เครื่องมือพลาสมา”

“พลิกฟื้นอัตลักษณ์”และยกระดับผ้าย้อมห้อมเมืองแพร่ด้วย “เครื่องมือพลาสมา”

   เมื่อ : 25 ก.ย. 2567

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนไม่เพียงแต่ต้องเข้าใจพื้นฐานและปัญหาของชุมชน แต่ยังต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ นี่คือสิ่งที่นวัตกรชุมชนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และชาวบ้านในจังหวัดแพร่ได้ร่วมกันทำเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมห้อมพื้นบ้านให้มีคุณภาพดีขึ้น คงทนยิ่งขึ้น และมีอัตลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น

นายวิทวัส นวลอินทร์ หรือ ”พี่เค” นวัตกรชุมชนจากชุดโครงการกรุ่นกลิ่นเสน่ห์ห้อมย้อมห้อมธรรมชาติ สร้างเศรษฐกิจท่องเที่ยววัฒนธรรมเวียงโกศัย ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพท. อธิบายว่า ”เราเริ่มต้นโครงการวิจัยนี้เพราะพบว่าผ้าย้อมห้อมธรรมชาติที่ผู้บริโภคซื้อใช้งาน มักมีปัญหาสีตก สีซีดเร็ว ซึ่งทำให้ไม่ได้รับความนิยมและถูกแทนที่ด้วยการย้อมเคมีซึ่งเป็นที่นิยมเนื่องจากต้นทุนที่ถูกและกระบวนการที่รวดเร็ว แต่ขณะเดียวกัน การใช้สารเคมีบางชนิดในการย้อมอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ผลิตหากไม่มีการป้องกันที่เพียงพอ ดังนั้น การผลิตห้อมจากธรรมชาติที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมจึงเป็นทางออกทั้งในเรื่องของสุขภาพ ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมและการรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรม”

พี่เคและทีมงานได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาและรับฟังความเห็นจากชาวบ้าน เพื่อวิเคราะห์และกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผ้าย้อมห้อมมีคุณภาพที่ดีขึ้นมาจากการใช้เทคโนโลยีพลาสมา ซึ่งเป็นการนำอากาศมาทำให้แตกตัวและปล่อยอนุมูลอิสระออกมาเพื่อปรับปรุงพื้นผิวของเส้นใยผ้า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของเส้นใยทำให้ผ้ามีความสามารถในการดูดซึมสีได้ดีขึ้น สีติดทนนานกว่าเดิม อีกทั้งยังสามารถช่วยป้องกันการซีดและป้องกันแสง UV ได้อีกด้วย

พี่เคกล่าวถึงกระบวนการนี้ว่า ”เมื่อเราเอาพลาสมามาใช้กับเส้นใยธรรมชาติ จะเกิดคุณสมบัติที่เรียกว่า “ชอบน้ำ” ทำให้สีธรรมชาติซึมเข้าสู่เส้นใยได้มากขึ้นและติดแน่นกว่าเดิม ผลจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่าผ้าที่ผ่านกระบวนการพลาสมานั้นมีความเข้มของสีที่มากกว่าผ้าที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการนี้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นจุดเด่นที่เชื่อว่าจะช่วยสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์”

นอกจากการปรับปรุงคุณภาพผ้าแล้ว เทคโนโลยีพลาสมายังทำให้ชุมชนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายและสร้างสรรค์ขึ้นได้ โดยทีมวิจัยให้ความสำคัญกับการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัวของผ้าย้อมห้อม โดยได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายเครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนจังหวัดแพร่ และนำมาปรับเป็นลวดลายบนผืนผ้า ทำให้ผ้าย้อมห้อมของแพร่ไม่เหมือนกับที่ใดในประเทศไทย

”โจทย์หนึ่งที่สำคัญคือเราจะสร้างความแตกต่างจากผ้าย้อมห้อมที่ทำกันทั่วไปอย่างไร เราจึงได้นำลวดลายจากเครื่องประดับของชุมชน 10 ตำบลในจังหวัดแพร่ มาทำเป็นลายบนผืนผ้า ซึ่งแต่ละลายมีเรื่องเล่าของชุมชนและประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ ตัวอย่างลวดลายที่โดดเด่น เช่น ลาย ”ดอกผักแว่น” ซึ่งเป็นลายดั้งเดิมของตำบลห้วยอ้อ ที่มีลักษณะเฉพาะเป็นดอกผักแว่น 8 กลีบ หรือ ”ลายล้อเกวียน” ของชุมชนบ้านทุ่งโฮ้ง ที่เป็นตัวแทนของการอพยพและเดินทางของชุมชนไทยพวนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ” พี่เคอธิบาย

เมื่อแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพของผ้าและการสร้างอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ได้แล้ว สิ่งที่ทีมวิจัยเน้นหนักอีกอย่างคือ การสร้างเครือข่ายการทำงานที่ยั่งยืนในชุมชน โดยทีมวิจัยไม่ได้เน้นให้ชาวบ้านทำงานทุกขั้นตอนเพียงลำพัง แต่กระจายงานตามความถนัดของแต่ละคน เพื่อให้เกิดการแบ่งปันรายได้อย่างเป็นธรรม ”เราสร้างเครือข่ายการทำงานในชุมชน เริ่มจากคนปลูกห้อม คนสกัดสี ไปจนถึงคนที่ทำลวดลายและตัดเย็บ ทุกคนมีส่วนในการผลิตผ้าย้อมห้อมคุณภาพ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับทุกคน ผ่านสายพานการผลิตในแต่ละขั้นตอน นอกจากนี้ชาวบ้านยังสามารถทำรายได้จากการทำลวดลายบนผืนผ้า การกัดลาย หรือการขายห้อมเปียก ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการย้อมสีให้กับชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดใกล้เคียงได้อีกด้วย”

เมื่อผลิตภัณฑ์และเครือข่ายพร้อม ทีมวิจัยยังพัฒนาแพลตฟอร์มการขายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.rujiradaphrae.com เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมห้อมเข้าถึงตลาดได้กว้างขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ การส่งออกผลิตภัณฑ์จากชุมชนเป็นอีกช่องทางที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการผลิตในปริมาณมาก แต่เน้นการเพิ่มคุณค่าและความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ และขายในตลาดที่มีกำลังซื้อ

“สิ่งที่เราขายไม่ใช่แค่ผ้าย้อมห้อมธรรมดา แต่เป็นงานศิลปะที่ทุกชิ้นมีคุณค่า มีเรื่องราว และแฝงนวัตกรรมเข้าไปในนั้น” พี่เคกล่าวถึงทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากการขายผ้าย้อมห้อมแบบเดิม

แม้ว่างานวิจัยนี้จะใช้เวลามากกว่า 3 ปีในการพัฒนา แต่ผลลัพธ์ที่ได้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีในชุมชน ชาวบ้านเริ่มเข้าใจถึงความสำคัญของการทำงานเป็นทีม การแบ่งหน้าที่ตามความถนัด และการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า พี่เคและทีมงานยังคงมีเป้าหมายที่จะต่อยอดงานวิจัยนี้ต่อไป โดยเน้นการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และไม่ต้องแข่งขันกันเอง ”เราพยายามให้ชาวบ้านสร้างแบรนด์และสินค้าเป็นของตัวเอง และไม่ให้เกิดการแข่งขันกันในกลุ่ม เราเชื่อว่าการสร้างความแตกต่างและอัตลักษณ์ที่ชัดเจนจะทำให้ชุมชนเติบโตได้อย่างยั่งยืน” พี่เคสรุป

การนำงานวิจัยมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนจึงไม่ใช่เพียงแค่การปรับปรุงคุณภาพสินค้า แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ช่วยยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นและอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไป

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ