นักวิจัยจับตาพายุจากเวียดนาม 13-14ต.ค. เฝ้าระวังน้ำใต้เขื่อน
นักวิจัยจับตาพายุจากเวียดนาม 13-14ต.ค. เฝ้าระวังน้ำใต้เขื่อน
นักวิจัยคาดมีโอกาสจะมีพายุอีกลูกจากเวียดนาม ไทยต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพราะจะส่งผลต่อปริมาณน้ำใต้เขื่อนตั้งแต่เมืองสองแควลงมา พร้อมเตือนระดับน้ำจะสูงขึ้นตั้งแต่ชัยนาทและใต้อยุธยาลงมา ปี 68 เดินหน้าขับเคลื่อนแผนงานวิจัยมุ่งเป้าด้านการบริหารจัดการน้ำ หวังลดน้ำท่วมน้ำแล้งใน 10 จังหวัด เน้นการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ให้เชื่อมโยงกับแผนน้ำของลุ่มน้ำ
รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและน้ำท่วมในขณะนี้ว่า ปริมาณน้ำฝนเริ่มลดลงแต่จะไปเพิ่มที่บริเวณภาคใต้ และคาดว่าจะมีโอกาสพายุเข้าประเทศเวียดนามในช่วงระหว่างวันที่ 13-14 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยจึงต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะบริเวณใต้เขื่อนตั้งแต่พิษณุโลกลงมาที่จะทำให้มีปริมาณน้ำเข้าไปเติมอีก ซึ่งที่ผ่านมามีพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ไม่รวมภาคเหนือตอนบน) ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครอบคลุม 14 จังหวัด รวม 1412212 ไร่ โดยจังหวัดที่เสียหายเกิน 2 แสนไร่ คือ พิจิตร สุโขทัย พิษณุโลก และนครสวรรค์ ตามลำดับ
ผลการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ฝนคาดการณ์ การบริหารเขื่อนและสภาพน้ำท่าท้ายเขื่อนของทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบว่าในขณะนี้ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำร้อยละ 70 เขื่อนสิริกิติ์ร้อยละ 94 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนร้อยละ 79 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ร้อยละ 93 โดยปริมาณน้ำท่าปัจจุบันที่สถานีตรวจวัดสูงสุดอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ 2334 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้แนวโน้มน้ำท่าสูงสุดในอีก 10 วันข้างหน้าจนถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ปริมาณน้ำท่าที่จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก อุทัยธานี และนครสวรรค์จะลดลง แต่พระนครศรีอยุธยาจะเพิ่มจาก 1990 ลบ.ม./วินาที เป็น 2128 ลบ.ม./วินาที จึงสรุปได้ว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นตั้งแต่ใต้จังหวัดชัยนาทและใต้พระนครศรีอยุธยาลงมาในบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ส่งผลให้น้ำท่วมพื้นที่ริมตลิ่งและมีโอกาสล้นคันกั้นน้ำได้ สำหรับปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ตอนบนทั้งแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านมีแนวโน้มลดลง
“หน่วยเราเป็นหน่วยเดียวที่เสนอผลการทำนายออกมาเป็นตัวเลขได้ล่วงหน้า 2 สัปดาห์ โดยมีตัวเลขอัตราการไหลของน้ำที่สถานีสำคัญเป็นตัวเลขล่วงหน้า จึงได้ส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานหลักของประเทศ ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. และสำนักระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร เพื่อประกอบการตัดสินใจ รวมถึงการประกาศแจ้งเตือนผ่านสื่อมวลชนตามนโยบายเผยแพร่ข่าวสารของประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.)” รศ. ดร.สุจริตระบุ
ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำเป็น 1 ใน 8 แผนงานวิจัยมุ่งเป้าปี 2568-2569 กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีเป้าหมาย “น้ำมั่นคง เพียงพอ ไม่แล้ง ไม่ท่วม ใน 10 จังหวัด” โดยมี รศ. ดร.สุจริตเป็นผู้อำนวยการแผนงานการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยด้านการจัดการน้ำ เพื่อมุ่งลดความเสี่ยงและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำไม่เพียงพอ โดยกลไกสำคัญ ได้แก่ การสร้างระบบบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเพียงพอตลอดทั้งปี โดยวางแผนและดำเนินงานอย่างบูรณาการที่ครอบคลุมภาคส่วน ทั้งการเพิ่มความสามารถในการเก็บกักและจัดสรรน้ำในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยแล้ง ลดความเสี่ยงจากการเกิดน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดระบบการวางแผนและแก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่น-จังหวัดให้เชื่อมโยงกับแผนน้ำของลุ่มน้ำโดยใช้ข้อมูลและความรู้เข้าช่วย ลดการใช้น้ำและพลังงานในการผลิตภาคการเกษตรเพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการปรับปรุงการผลิตภาคการเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ