สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) ร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงที่เกี่ยวข้อง พร้อมต่อยอดองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) ร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงที่เกี่ยวข้อง พร้อมต่อยอดองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) นำโดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) โดยคุณอนุชา สมจิตรชอบ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์นวัตกรรมไออาร์พีซี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งต่อยอดขยายผลนวัตกรรมนำไปใช้เชิงพาณิชย์ โดยนำองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และประสบการณ์การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลทางวิชาการ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากรและส่งเสริมพันธกิจของทั้งสองฝ่ายอย่างยั่งยืน
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “ดาราศาสตร์” เป็นวิทยาศาสตร์ขั้นแนวหน้า และเป็นสาขาที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม เนื่องจากการวิจัยดาราศาสตร์ต้องใช้เทคโนโลยี ขั้นสูงที่ล้ำหน้าที่สุดเท่าที่มนุษย์จะหามาได้ เพื่อศึกษาวัตถุท้องฟ้าที่อยู่ไกลมาก และสัญญาณอ่อนมาก ๆ ในอดีตการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ศึกษาวิจัยดาราศาสตร์จึงทำให้เกิดนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกมากมาย อาทิ กล้องดิจิทัล WiFi เครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ เช่น ซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอ ฯลฯ การทำวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้นแนวหน้า นอกเหนือจากการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ แล้วยังพัฒนาให้เกิดคนเก่งตามมา ทั้งนักดาราศาสตร์ วิศวกร ช่างเทคนิค เป็นต้น
NARIT ก่อตั้งมาได้กว่า 15 ปีแล้ว เริ่มต้นจากการวางโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทำวิจัยได้อย่างเต็มรูปแบบ และช่วงถัดมาใน 10 ปีหลัง จำเป็นจะต้องพัฒนางานวิจัยและอุปกรณ์วิจัย จึงหันมามุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงสาขาต่าง ๆ อาทิ เทคโนโลยีทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ เทคโนโลยีเมคาทรอนิกส์ เทคโนโลยีการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง เทคโนโลยีเคลือบกระจก เทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุและสัญญาณดิจิทัล เทคโนโลยีเทคโนโลยีอวกาศ เป็นต้น เพื่อการพึ่งพาตนเองและยังต่อยอดองค์ความรู้พัฒนาไปสู่งานด้านอื่น ๆ ได้
ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เกิดความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรมในวันนี้ NARIT เป็นหน่วยงานรัฐ ที่มุ่งเน้นงานวิจัย และงานพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงด้านวิศวกรรมระบบเป็นหลัก แตกต่างจาก IRPC ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน ที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม มีศูนย์วิจัยที่พัฒนานวัตกรรมด้านวัสดุและพลังงาน ในความแตกต่างก็คาดว่าจะสามารถผสานความร่วมมือ เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของทั้งสองหน่วยงานได้ และเชื่อมั่นว่าความเชื่อมโยงนี้คือโอกาสแห่งอนาคตที่จะก่อให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นในประเทศไทย ผลักดันนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมและประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลต่อไป
นายอนุชา สมจิตรชอบ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์นวัตกรรมไออาร์พีซี กล่าวว่า NARIT และ IRPC มีแนวคิดการทำงานที่คล้ายกันโดยเฉพาะการมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนานวัตกรรม จากการได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงทางดาราศาสตร์ ของ NARIT ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ประทับใจในเทคโนโลยีขั้นสูงด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการเคลือบกระจก จนนำมาสู่ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในวันนี้ เราสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ไม่ได้ขึ้นไปบนท้องฟ้า แต่เราจะดึงเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงจากท้องฟ้าลงมาผสานและต่อยอดร่วมกัน หวังว่า IRPC จะเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรที่จะนำมาสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยในอนาคตอย่างแน่นอน
พิธีลงนามดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์นวัตกรรมไออาร์พีซี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) โดยมีคณะผู้บริหาร นักวิจัย วิศวกร และเจ้าหน้าที่ของสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน โอกาสนี้ ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานส่วนต่าง ๆ ของ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) อาทิ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม และห้องปฏิบัติการวิจัย ภายในศูนย์นวัตกรรมไออาร์พีซี สวนโซลาร์ลอยน้ำ ท่าเทียบเรือไออาร์พีซี เป็นต้น