สกสว. แท็กทีมเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน วางเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิต 12 คน / ประชากร 1 แสนราย ในปี 2570 รุกนำงานวิจัยแก้ปัญหาอุบัติภัย ภายใต้กองทุนจาก 5 หน่วยงานหลัก

สกสว. แท็กทีมเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน วางเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิต 12 คน / ประชากร 1 แสนราย ในปี 2570 รุกนำงานวิจัยแก้ปัญหาอุบัติภัย ภายใต้กองทุนจาก 5 หน่วยงานหลัก

   เมื่อ : 29 ต.ค. 2567

กรุงเทพฯ 29 ตุลาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เข้าร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านการวิจัยและวิชาการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยด้านความปลอดภัยทางถนน หรือ MOU 3 กองทุน คือ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ที่มีพันธกิจสำคัญในการผลักดันให้เกิดงานวิจัยและการพัฒนาที่ตอบสนองต่อการกำหนดนโยบายของภาครัฐด้านความปลอดภัยทางถนน การสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ในการแก้ปัญหาเร่งด่วน เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้และการปฏิบัติเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ตามเป้าหมายแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2565-2570)

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุในปัจจุบัน พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนที่เพิ่มขึ้นและสูงกว่าค่าเป้าหมายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเยาวชน วัยรุ่น และวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่การศึกษาของ World Bank ระบุว่า หากสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้ 50% จากปัจจุบัน รายได้ต่อหัวของประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก GDP ในปี 2014 ถึง 14.6%ในอีก 24 ปี โดยเป้าหมายของแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 ตั้งเป้าต้องการลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้เหลือ 12 คนต่อแสนประชากร ในปี 2570 ขณะที่ประเด็นความท้าทายที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ ปัญหาการไม่สวมหมวกนิรภัยในขณะขับขี่หรือซ้อนรถจักรยานยนต์ ขับรถเร็ว และเมาแล้วขับ รวมทั้งยังมีปัญหาที่เพิ่มขึ้นมา คือกัญชา และ Aging Society จึงมีความจำเป็นอย่างมาก ที่ต้องผลักดันให้มีการนำงานวิชาการมาร่วมขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม

“จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ การใช้งานวิจัยอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงต้องมีการดำเนินการควบคู่กับการขยายผล และการวางโจทย์วิจัยพื้นฐาน เช่น การวิจัยด้านพฤติกรรม โจทย์วิจัยเชิงปฏิบัติการ และการวิจัยเชิงนโยบาย ในแง่มุมของการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ เป็นต้น โดยเมื่อทำการวิจัยแล้วต้องมีการวัดผลลัพธ์ที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงในประเด็นสำคัญ เรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ขอทุนวิจัยไม่ให้เกิดการทับซ้อน ดังนั้นอาจต้องมีการให้ทั้ง3 กองทุนได้เห็นข้อเสนอโครงการร่วมกัน เพื่อพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัยให้มีความครอบคลุมและตรงตามความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด”

ขณะที่ แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา กรรมการในคณะกรรมการบริหาร เสนอถึง การเรียนรู้จากประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม พร้อมทั้งเปรียบเทียบในพื้นที่ของจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก มีความแตกต่างจากจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าเพราะเหตุใด เป็นประเด็นที่ต้องนำมาเรียนรู้และหารือร่วมกัน รวมถึงการเริ่มสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนตั้งแต่ในระดับเด็กเล็ก ก็นับเป็นตัวอย่างที่ดี โดยคาดว่ามีอีกหลายมิติที่งานวิจัยจะเข้ามาช่วยได้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่จะลดอัตราผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนตามจำนวนประชากรต่อแสนที่ตั้งเป้าไว้

ทั้งนี้ การผลักดันให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนการเดินทางและการขนส่งทางถนนที่ปลอดภัย หรือลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนถนน ภายใต้ 3 กองทุนนั้นประกอบด้วย 5 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยบริการและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือในการสนับสนุนให้เกิดนโยบาย ทิศทางการวิจัยและพัฒนาด้านความปลอดภัยทางถนนสำหรับประเทศไทย พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง